อุบัติเหตุทำไทยสูญ 5 แสนล้าน

10 เม.ย. 2564 | 19:00 น.

ไทยสูญปีละ 5 แสนล้านบาท จากอุบัติเหตุบนถนน เผยเสียชีวิตกว่า 32% สูงสุดในอาเซียน และกว่า 80%เป็นรถจักรยานยนต์ บริษัทกลางขอทุกคน ร่วมลดการตาย 41% ในปี 70 และ 50% ในปี73

อุบัติเหตุบนท้องถนน ส่งผลให้สัดส่วนการเสียชีวิตต่อประชากรสูงขึ้น ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนสูงเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มศอาเซียน ด้วยสัดส่วน 32.7% ขณะที่สัดส่วนของอาเซียนอยู่ที่ 20.2% และโลก 18% และแนวโน้มผู้เสียชีวิตปี 2570 กรณีที่ไม่ดำเนินการใดๆ จะมี 17,003 คน ลดลง 4.64% หรือราว 828 คนจาก 17,831 คนในปี 2563 แต่หากมีมาตรการลดการเสียชีวิตในรถจักรยานยนต์ จะทำให้จำนวนเสียชีวิตในปี 2570 เหลือ 10,520 คน ลดลง 41% หรือราว 7,311 ล้านคน จาก 17,831 คนในปี 2563 

ขณะเดียวกันจากการประเมินสถิติการเสียชีวิตบนถนนในอีก 6 ปีข้างหน้า (ตั้งแต่ปี 2564-2570) กรณีเลวร้าย (Worst case) คาดว่า จำนวนเสียชีวิตจะเป็น 18,606 คน และกรณีที่ดีที่สุด ( Best case) จำนวนเสียชีวิตราว 15,399 คน 

นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดเปิดเผยว่า  องค์การอนามัยโลก(WHO)ประเมินความสูญเสียจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนแต่ละประเทศไม่เท่ากัน แต่สำหรับไทย มูลค่าการสูญเสียจากอุบัติเหตุอยู่ที่ 3%ต่อจีดีพีของปี 2562 (จีดีพี 16.87 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นมูลค่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นความสูญเสียจำนวนมาก ดังนั้นไม่ว่าจะรู้สึกตัวหรือไม่ แต่มูลค่าความสูญเสียดังกล่าวคือ ภาระของ
ทุกคนที่ต้องร่วมกัน เพราะกว่าจะขับเคลื่อนจีดีพีแต่ละปีให้เติบโตเพื่อชดเชย ต้องออกเพิ่มปีละ 7% เพื่อให้ได้จีดีพี 4% และต้องทำถึง 10% เพื่อให้ได้ 7% 

จำนวยรถจดทะเบียนปี2563

การเสียชีวิตและอุบัติเหตุบนถนนช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค-มี.ค.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากเห็นตัวเลขทยอยลดลงในปี 2563 เป็น 17,831 คนจาก 22,000 คนในปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการล็อคดาวน์ประเทศช่วงเดือนเมษายน 2563 จากวิกฤติโควิด-19 แต่หากไม่มีปัจจัยโควิด-19 อาจจะกลับไปเสียชีวิตอยู่ที่ 19,000-20,000 คน โดยเฉพาะเดือนมกราคมปี 2564 ภาพรวมมีคนเสียชีวิตทุก 23  วินาทีและจากโลกนี้ไปด้วยอุบัติเหตุบนถนนประมาณ 3.17 แสนคน

ขณะที่ผู้เสียชีวิตราว 39% เป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งสะท้อนว่า 1 คนที่เสียชีวิตไปทำให้ 2.43 คนต่อครอบครัวต้องเดือดร้อน และเป็นความสูญเสียของประเทศ เพราะตอนนี้ครอบครัวคนไทยมีขนาดเล็กลง และไทยถูกจัดอยู่ในนิยาม สูงวัย ตายเร็ว-เกิดน้อย ดังนั้นความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุบนถนน เราอาจไม่รู้สึกตัว แต่นั่นคือภาระของเราทุกคน ซึ่งบริษัทกลางถือเป็นหน้าที่และทุกคนมีหน้าที่ร่วมกันนายนพดลกล่าว

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2543 บริษัทกลางได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนเริ่มโครงการ ทศวรรษความปลอดภัยทางถนนโดยผลักดัน 5 เสาหลัก ได้แก่ การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน, ถนนและการจราจรที่ปลอดภัย, ยานพาหนะที่ปลอดภัย, ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย, การตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ 

ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นแผนหลักของโลกและเป็นแผนแม่บทของไทย ซึ่งไทยประสบความสำเร็จสามารถลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ แต่ไม่ทันเหตุการณ์กับที่วางแผน ขณะเดียวกันหลายประเทศก็ล้มเหลว ดังนั้นทั่วโลกจึงมีข้อตกลงกันใหม่ว่า ในปี 2573 จะลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนให้ได้ 50% โดยทุกประเทศภาคีต้องดำเนินงานด้านความปลอดภัยบนถนนภายใต้ 12 เป้าหมาย

สำหรับแนวทางการดำเนินงานปีนี้ นายนพดลกล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจำนวนกรมธรรม์รับตรงเติบโต 4% หรือ 15.15 ล้านฉบับ โดยจะผลักดันให้ประชนชนในชุมชนทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศหันมาทำประกันภัยรถจักรยานยนต์ 2 แสนคัน เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากโควิด-19 และมีข้อจำกัดทั้งรายได้ของประชากรและผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ ซึ่งวันนี้รถที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายวิ่งอยู่บนถนน 39-40 ล้านคัน มีรถที่ชำระภาษีประจำปี  29.03 ล้านคัน หรือ 72% ขณะที่จำนวนรถที่จัดทำพ.ร.บ.ภาคบังคับมี 84% หรือ 33.72 ล้านคัน  และในจำนวนรถที่วิ่งอยู่บนถนนนั้น เป็นรถจักรยานยนต์ 21.56 ล้านคัน อีกเกือบ 8-9 ล้านคัน ยังไม่เข้าสู่ระบบเพราะยังไม่ต่อภาษี ส่วนที่เหลือ 18.87 ล้านคันเป็นรถประเภทอื่นๆ 

ส่วนผลการดำเนินงานปี 2563 บริษัทมีจำนวนกรรมธรรม์รับโดยตรง 14.94 ล้านฉบับ เพิ่มขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์รับรวม 4,569.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.60% โดยการจัดสินไหมทดแทนรวมทั้งสิ้น 392,883 เคลม ค่าสินไหมทดแทนรวม 5,723.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,235 และสัดส่วนของค่าสินไหมทดแทนต่อค่าเบี้ยประกันภัย (Loss Ratio) อยู่ที่ 113.82% เพิ่มขึ้น 0.94% 

“สัดส่วนของ Loss Ratio ที่เพิ่มขึ้น 0.94% อยู่ที่ 113.82% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงนั้น สาเหตุหลักมาจากการปรับปรุงความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ. ศ. 2535 จาก 3 แสนบาทเป็น 5 แสนบาท กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ส่วนกรณีสูญเสียอวัยวะเพิ่มความคุ้มครองจาก 2-3  แสนบาทเป็น  2-5 แสนบาท โดยค่าเบี้ยประกันภัยต่อปี รถจักรยานยนต์ 300-600 บาท,รถเก๋ง 600 บาทและ รถกระบะ 900-1,100 บาท” นายนพดลกล่าว 

ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564