วันออกพรรษา 2566 เปิดประวัติ ที่มาและความสำคัญ

10 ต.ค. 2566 | 01:00 น.

วันออกพรรษา 2566 ประวัติ ความสำคัญ พร้อมที่มา ข้อควรปฏิบัติเเละกิจกรรมในวันออกพรรษาเพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวพุทธ

วันออกพรรษา ถือเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษาซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยในช่วงฤดูฝนนั่นเอง สำหรับวันออกพรรษาปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566

ประวัติวันออกพรรษา 2566

วันออกพรรษา ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดาซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิตแต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์

วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15  ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(11)ถือเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์

วันออกพรรษา หมายถึง วันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด (8) แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(11)หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ 

วันออกพรรษา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันปวารณา" คือ วันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม เป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ในทุกระดับชั้นที่ได้จำพรรษาร่วมกันตลอด 3 เดือนสามารถว่า กล่าวตักเตือน ชี้ข้อบกพร่องของกันและกันได้แต่ต้องเป็นไปด้วยความเมตตา ความปรารถนาดี และความเสมอภาค ซึ่งหลังจากการทำพิธีออกพรรษาแล้วพระภิกษุสงฆ์สามารถทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ตามปกติ สามารถค้างแรมในสถานที่ต่าง ๆ ที่ไปแสดงเทศนาได้โดยที่ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติใด ๆ 

ทั้งนี้ วันออกพรรษา นับเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนา หลังวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้โดยพระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรมและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาไปเผยแผ่แก่ประชาชน ทำให้พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่างไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าว ตักเตือนตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสร้างสรรค์สังคมต่อไป

ข้อปฏิบัติของชาวพุทธในช่วงวันออกพรรษา

  • ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ครอบครัว ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
  • ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหาร หรือจัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาที่วัด
  • ร่วม "ตักบาตรเทโว" ในวันพระใหญ่
  • ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติ ตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ ประดับธงชาติ ธงธรรมจักรตามวัด และสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
  • งดการเที่ยว ละเว้นอบายมุข รวมทั้งละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์