รู้จัก ‘พาหุรัด’ Little India ก่อนเที่ยวงานเทศกาล ‘ดิวาลี’ 2565

21 ต.ค. 2565 | 06:09 น.

เทศกาลดิวาลี 2565 กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ตุลาคมนี้ ในย่าน ‘พาหุรัด’ และชุมชนใกล้เคียงย่านคลองโอ่งอ่างและสะพานเหล็ก วันนี้เรามาทำความรู้จัก ‘พาหุรัด’ ที่ได้ชื่อว่า Little India กันก่อนดีกว่า ว่าทำไมย่านการค้าแห่งนี้ ถึงเรียกว่า "อินเดียน้อยๆ” ของประเทศไทย

 

ถนนพาหุรัด ที่ตั้งของ ตลาดพาหุรัด อันเลื่องชื่อ เป็นถนนในท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร ของ กรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่ถนนบ้านหม้อ (สี่แยกบ้านหม้อ) ไปทางทิศตะวันออก ตัดกับถนนตรีเพชร (สี่แยกพาหุรัด) จนถึงถนนจักรเพชร

 

หากจะย้อนกลับไปในยุคสมัยที่มีการตัดถนนเส้นนี้ ก็ต้องย้อนไปในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนพาหุรัดขึ้นโดยทรงใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ของ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์” พระราชธิดาซึ่งประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสิ้นพระชนม์ขณะทรงพระเยาว์ (พระชันษาเพียง 8 พรรษา) ด้วยเหตนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเส้นนี้ขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลพระราชทาน และพระราชทานนามถนนว่า "ถนนพาหุรัด" ตามพระนามพระราชธิดา

ทัศนียภาพถนนพาหุรัด (ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย)

เป็นถิ่นของคนญวน ก่อนกลายเป็นย่านค้าขายของคนอินเดีย

ในสมัยกรุงธนบุรีนั้น มีพวกคนญวนอพยพหนีเหตุจลาจลวุ่นวายในเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม มาก่อตั้งบ้านเรือนอาศัยในบริเวณที่เป็นพาหุรัดทุกวันนี้ โดยพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯ ให้รับชาวญวนอพยพเหล่านี้ไว้แล้วพระราชทานที่ดินให้พักอาศัย แต่ก่อนจึงเรียกย่านนี้ว่า บ้านญวนหรือถนนบ้านญวน กระทั่งต่อมาเกิดเพลิงไหม้บ้านญวน ทำให้เกิดพื้นที่โล่งว่างขนาดใหญ่ในบริเวณที่ถูกเพลิงไหม้ เมื่อมีการตัดถนนพาหุรัดขึ้นในบริเวณนี้ จึงเปลี่ยนชื่อมาเรียกว่าย่านพาหุรัดตามชื่อถนน

 

ถนนพาหุรัดเป็นถนนเส้นที่กว้างแห่งหนึ่งในเขตพระนคร คือกว้างถึง 20 เมตร ยาวตั้งแต่ถนนบ้านหม้อถึงถนนจักรเพชรเป็นระยะทาง 525 เมตร นับเป็นถนนสำคัญสายหนึ่ง รองจากถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร เพราะเป็นย่านติดต่อค้าขาย นอกจากนี้ ถนนพาหุรัดในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังทำให้การคมนาคมสะดวกสบายมากขึ้น จึงมีผู้คนมาปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยกันในย่านนี้ โดยเฉพาะชาวอินเดียซึ่งเดิมค้าขายผ้าอยู่แถบบ้านหม้อ วัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) ได้อพยพเข้ามาทำมาหากินในแถบพาหุรัดกันเป็นจำนวนมาก

พาหุรัด Little India ในกทม.

ที่ดินบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นของวัดเลียบ (วัดราชบุรณราชวรวิหาร) มีที่ดินเอกชนบ้างก็ไม่มากนัก ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดลงบริเวณสะพานพุทธ วัดเลียบและโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แต่บริเวณโดยรอบที่เป็นตึกแถวขายเสื้อผ้ายังคงอยู่

 

ในช่วงเวลานั้น มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาขายข้าวปลาอาหารแต่จำนวนไม่มากนัก เนื่องจากไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าตลาดปีระกาที่อยู่ในเวิ้งนาครเขษม และตลาดบ้านหม้อซึ่งเป็นตลาดใหญ่กว่าและเปิดมานานแล้ว ซึ่งสุดท้ายก็ไปไม่รอด ต้องเลิกไปโดยปริยาย แต่ทว่า กิจการขายผ้าของชาวอินเดียกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ มีการสั่งผ้าจากต่างประเทศ ทั้งจากยุโรป อเมริกา และอินเดียเข้ามาจำหน่าย ซึ่งผ้าที่ได้รับความนิยมเป็นพวกผ้าชีฟองและผ้าลูกไม้ชั้นดีจากเมืองนอก

 

ย่านขายผ้าเลื่องชื่อ ชื่นชอบสินค้าอินเดียต้องมาที่นี่

ต่อมา ช่วงหลัง ๆ มีพ่อค้าชาวจีนในสำเพ็งขยับขยายออกมาสร้างตึกแถวขายสินค้าบนสองฟากถนนพาหุรัด ถือเป็นการช่วงชิงตลาดการค้าเสื้อผ้าจากกลุ่มพ่อค้าชาวอินเดีย แต่กลุ่มพ่อค้าชาวอินเดียก็ยังคงรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น รักษาวัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม อาหารการกิน การยึดมั่นในพิธีกรรมตามหลักศาสนา โดยมีคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภาเป็นศาสนสถานสำคัญของชาวซิกข์ มียอดโดมสีทองอร่ามสูงเด่นเป็นสง่า

 

 โดมสีทองของคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา โดดเด่นเป็นสง่า ในย่านพาหุรัด (ขอบคุณภาพจาก tourismthailand.org)

เดิมทีนั้น ชาวซิกข์จากอินเดียเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้เข้ามาค้าขายผ้า เริ่มตั้งแต่เดินเร่ขายไปตามบ้านเรือนต่างๆ กระทั่งตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่แถวบ้านหม้อ พาหุรัด ฝั่งพระนคร ก่อนกระจายไปอยู่ย่านสี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี รวมทั้งออกไปตามจังหวัดใหญ่ๆ เช่น อุดรธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต

 

นอกจากชาวซิกข์แล้ว ในย่านพาหุรัดยังมีชาวฮินดูและชาวมุสลิมตามตรอกซอกซอยระหว่างถนนจักรเพชรกับถนนตรีเพชร จะพบวิถีชีวิตผู้คนที่ยังคงรักษาความเป็นอินเดียไว้อย่างเหนียวแน่น มีร้านค้าขายเสื้อผ้า ส่าหรี อาหาร เครื่องเทศ ข้าวของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ของใช้จำเป็นของชาวอินเดีย และยังมีร้านขายเครื่องหอม ของชำร่วย ร้านขายเครื่องเขียน รวมทั้งร้านขายที่นอนหมอนมุ้งเก่าแก่

 

ทุกวันนี้ ถนนพาหุรัดเป็นย่านที่มีสินค้าให้เลือกสรรมากมายและหลากหลาย ทั้งผ้าตัด อุปกรณ์ตัดเย็บ รวมไปถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปสารพัดชาติ ทั้งชุดไทย ชุดจีน โดยเฉพาะส่าหรี นอกจากนี้ พาหุรัดยังมีชุมชนเล็กๆ ที่ยังคงดำเนินวิถีแบบภารตะ เป็นที่มาของชื่อ "ลิตเติ้ล อินเดีย เมืองไทย"

 

สถานที่สำคัญในย่านพาหุรัด มีทั้งวัดคุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา(วัดซิกข์) เป็นวัดซิกข์แห่งแรกของไทย และยังมีห้างดิโอลด์สยามพลาซ่า ห้างไชน่า เวิลด์ (เดิมชื่อห้างเซ็นทรัลวังบูรพา) และห้างอินเดีย เอ็มโพเรียม (เดิมชื่อห้างเอทีเอ็ม)

 

หากอยากดื่มด่ำกับวัฒนธรรมอินเดียก่อนเข้าร่วมตื่นตาตื่นใจกับ ‘เทศกาลดิวาลี’ ระหว่างวันที่ 21-23 ตุลาคมนี้ อย่าลืมแวะตลาดพาหุรัด ซื้อเสื้อผ้าสไตล์อินเดียสักชุด มาแต่งองค์ทรงเครื่องให้เข้ากับบรรยากาศของเทศกาล รับรองว่าการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะได้อรรถรสของความเป็นอินเดียในย่าน “Little India พาหุรัด” มากขึ้นเป็นกอง ไม่ลองไม่รู้นะจ๊ะ  

 

ขอบคุณข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊กเจาะเวลาหาอดีต / เว็บไซต์ท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ / วิกิพีเดียสารานุกรมออนไลน์