แพทย์เตือน ไข้หวัดใหญ่ปีนี้ส่อรุนแรงสุดในรอบ 2 ปี กลุ่มเสี่ยงเร่งฉีดวัคซีน

25 ก.ค. 2565 | 13:40 น.

แพทย์เตือนไข้หวัดใหญ่ปีนี้ อาจรุนแรงที่สุดในรอบ 2 ปี ย้ำกลุ่มเสี่ยงควรเร่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชี้กลุ่มอายุ 0 – 19 ปี ตัวกลางสำคัญของการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัว WHO ประกาศ ประเทศเขตอบอุ่นซีกโลกใต้รวมทั้งไทย เฝ้าระวังใกล้ชิด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเตือนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในเขตอบอุ่นซีกโลกใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ให้เฝ้าระวังเพื่อติดตามและเตรียมรับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) รวมถึงเพิ่มการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจมีการติดเชื้อร่วมกับโควิด-19 ได้

แพทย์เตือน ไข้หวัดใหญ่ปีนี้ส่อรุนแรงสุดในรอบ 2 ปี กลุ่มเสี่ยงเร่งฉีดวัคซีน
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันของโรคไข้หวัดใหญ่ที่กำลังจะกลับมาระบาดอีกครั้ง นับตั้งแต่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายการป้องกันโควิด-19 ที่ระบาดมา 2 ปีกว่าแล้ว และยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยเป็นบางส่วน รวมถึงมีการเปิดประเทศอย่างเสรี 

ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศออสเตรเลีย (ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2565) มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สะสมถึง 147,155 ราย มีผู้ป่วยในที่รักษาในโรงพยาบาล 989 ราย และในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยถึงร้อยละ 6.1 หรือประมาณ 60 รายที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU ที่สำคัญมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่ ถึง 54 ราย

แพทย์เตือน ไข้หวัดใหญ่ปีนี้ส่อรุนแรงสุดในรอบ 2 ปี กลุ่มเสี่ยงเร่งฉีดวัคซีน

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ก็มีความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาระบาดของไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากภายในประเทศเริ่มพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงได้รับรายงานจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศอีกด้วย ถึงแม้ว่าข้อมูลในประเทศไทยเริ่มทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่โรคไข้หวัดใหญ่จะกลับมาระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง

โรคไข้หวัดใหญ่ที่อาจจะกลับมาระบาดในปี 2565 หลังจากลดลงในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คาดการณ์ว่าจะมีความรุนแรงกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่ มีการเว้นระยะห่าง และสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นกิจวัตร ซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี แต่ในอีกนัยหนึ่งประชาชนก็ขาดโอกาสในการรับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

 

อีกทั้งหลังจากที่มีการประกาศยกเลิกมาตรการป้องกันต่างๆ ยกเลิกการสวมใส่หน้ากากอนามัย ก็จะทำให้ประชาชนมีโอกาสรับเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาอากาศแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน และหลายประเทศอยู่ในช่วงฤดูฝน มีอากาศชื้น ทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายและมีอายุนานขึ้น การที่ร่างกายห่างหายจากภูมิคุ้มกันเป็นเวลานานนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โรคทวีความรุนแรงและกว้างขวางมากกว่าปกติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรง เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กเล็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี ผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น

 

สิ่งที่น่าวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ในสถานการณ์ช่วงนี้ มี 2 ส่วนหลักๆ คือ

  1. การเปิดเรียนเต็มรูปแบบ ตัวแปรสำคัญก็คือ ‘เด็กเล็ก’ อายุ 0-4 ปี และ ‘เด็กวัยเรียน’ อายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ ‘เด็กโต’ อายุ 10-19 ปี ซึ่งถือเป็นตัวกลางที่จะนำพาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แพร่มาสู่สมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ยิ่งหากมีผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ก็จะยิ่งได้รับความเสี่ยงสูงต่อโรครุนแรงเพิ่มขึ้นไปด้วย จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์โดย The Lancet (ตีพิมพ์ 25 มีนาคม 2565) พบว่าผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากขึ้นถึง 2 - 4 เท่า เมื่อเทียบกับเป็นโรคโควิด-19 เพียงโรคเดียว ในขณะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต สูงถึง 2 เท่า นอกจากนี้ จากการศึกษาในต่างประเทศอื่นๆ ยังพบว่า 7 ใน 10 คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม การอักเสบของสมอง ความล้มเหลวของอวัยวะหลายส่วน และภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตอีกด้วย
  2. การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน สิ่งที่กังวลคือนักท่องเที่ยวในหลายประเทศจะมีแนวทางปฎิบัติในการป้องกันโควิด-19 แตกต่างจากคนไทย เช่น ไม่นิยมสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือไม่มีการเว้นระยะห่าง อีกทั้งหากเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากซีกโลกใต้ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นโซนที่กำลังมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่เพิ่มสูงขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวรายอื่นๆ รวมถึงคนไทยที่เกี่ยวข้องได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ และอาจเกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทยเป็นวงกว้างมากขึ้น ถือเป็นวงจรของการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ต่อไปในอีกหลายประเทศในอนาคตอันใกล้

 

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี ย้ำว่า ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในช่วงวัย 0-19 ปี ซึ่งจะเป็นกลุ่มนำพาโรคกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเดียวกับโควิด-19 รวมถึงประชาชนทั่วไป ไม่ควรเพิกเฉยต่อการป้องกันไข้หวัดใหญ่และควรป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจาก ‘การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่’ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่คุ้มค่าที่สุดในการช่วยปกป้องตนเองและบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวให้รอดพ้นจากความรุนแรงของการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อร่วมกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ โดย Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC สหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมผลการศึกษาจากหลายแห่ง ซึ่งมีผลการศึกษาปี 2018 แสดงให้เห็นถึงผู้ใหญ่ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีโอกาสรับการรักษาใน ICU น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ถึง 59% ขณะที่ผลการศึกษาปี 2021 พบว่า ผู้ใหญ่ที่รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง 31% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

ปัจจุบัน สถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย มีบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในฤดูกาลปี 2565 หรือเรียกว่า ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซีกโลกใต้ 2022’ ทั้งชนิด 3 สายพันธุ์ (ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย) และชนิด 4 สายพันธุ์ ซึ่งจะครอบคลุมเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้กว้างกว่าชนิด 3 สายพันธุ์ โดยประชาชนสามารถรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้ที่โรงพยาบาลเอกชนทั่วไป โดยได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565