ครั้งแรกของโลก"สหรัฐฯ"ปลูกถ่าย"หัวใจหมู"ในร่างกายมนุษย์สำเร็จ

12 ม.ค. 2565 | 04:01 น.

ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ปลูกถ่าย "หัวใจหมู" ในร่างกายมนุษย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา - University of Maryland School of Medicine (UMSOM)/Handout via REUTERS ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่าย "หัวใจหมู" ในร่างกายมนุษย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

 

ครั้งแรกของโลก"สหรัฐฯ"ปลูกถ่าย"หัวใจหมู"ในร่างกายมนุษย์สำเร็จ

 

มูฮัมหมัด เอ็ม. โมฮิอุดดิน (Muhammad M. Mohiuddin) ศัลยแพทย์ในสหรัฐฯ พร้อมด้วยทีมแพทย์กำลังนำหัวใจของหมูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์สำหรับเก็บอวัยวะในแล็บ Xenotransplant ก่อนจะประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายหัวใจให้กับ เดวิด เบนเนตต์ ผู้ป่วยโรคหัวใจระยะสุดท้ายวัย 57 ปี

เดวิด เบนเน็ตต์ (David Bennett) ป่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เขามีทางเลือกเพียงแค่ 2 ทางคือเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะในครั้งนี้หรือไม่ก็ต้องจากโลกนี้ไป สุดท้ายเขาจึงเข้าร่วมงานวิจัยในครั้งนี้เพื่อปลูกถ่ายหัวใจหมูครั้งแรกของโลก

 

ครั้งแรกของโลก"สหรัฐฯ"ปลูกถ่าย"หัวใจหมู"ในร่างกายมนุษย์สำเร็จ

หลังการปลูกถ่ายเรียบร้อยยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ เกิดขึ้น และยังไม่มีข้อบ่งชี้การเกิดภาวะ Graft rejection ด้วย ซึ่งขณะนี้เบนเน็ตต์ยังต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หวังว่าการวิจัยนี้จะผ่านพ้นไปด้วยดีและจะช่วยให้เบนเน็ตต์กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขได้อีกครั้ง

กระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะโดยใช้อวัยวะจากสิ่งมีชีวิตคนละสายพันธุ์ เรียกว่า Xenotransplantation ในอดีตเคยมีความพยายามที่จะปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์มาหลายครั้ง หากแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อันเนื่องมาจากร่างกายมนุษย์ไม่สามารถเข้ากันได้กับอวัยวะของสัตว์

 

แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรมพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะกระบวนการตัดแต่งยีนที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถปรับโครงสร้างโมเลกุลของเซลล์ได้ตามต้องการ ซึ่งในกรณีของการปลูกถ่ายหัวใจหมูในครั้งนี้ บริษัท Revivicor ทำการปรับแต่งยีนจำนวน 10 ตำแหน่งในเซลล์หัวใจหมู เพื่อกำจัดส่วนที่อาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ดังนั้น เมื่อนำมาปลูกถ่ายก็จะลดโอกาสการทำลายอวัยวะปลูกถ่ายโดยภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย (Graft rejection) ได้

 

หัวใจและไตหมูมีโครงสร้างทางกายวิภาคคล้ายกับของมนุษย์ จะเห็นได้จากที่ในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษา มักจะใช้อวัยวะหมูเหล่านี้ในการเรียนการสอน และด้วยโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันศัลยแพทย์จึงเล็งเห็นว่าสามารถนำมาใช้ในการทดลองครั้งนี้ได้

 

ที่มา: NEW ATLAS / ภาพ : ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์