เจาะเบื้องลึก ข้าราชการไทย ทหาร ตำรวจ ครู เพิ่มขึ้นแค่ไหน ในรอบ 10 ปี

07 ก.ค. 2565 | 05:35 น.

เจาะเบื้องลึก ข้าราชการไทย ทหาร ตำรวจ ครู หมอ รวมไปถึงพนักงาน บุคลากรภาครัฐทั้งหมดเพิ่มขึ้นแค่ไหน ในรอบ 10 ปี จำนวนแต่ละประเภทมีเท่าไหร่ อาชีพไหนมีจำนวนมากที่สุด

"ข้าราชการไทย" ถือเป็นหนึ่งอาชีพที่มีความมั่นคงกับการใช้ชีวิต เพราะนอกจากจะมีรายได้มั่นคง และเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีสารพัดสวัสดิการ ที่ออกมาดูแลกันตั้งแต่เกิดยันตาย จึงไม่แปลกที่ในแต่ละปีจะมีผู้ที่หาทางสอบคัดเลือก เพื่อเปิดโอกาสการเข้าสู่อาชีพข้าราชการจำนวนมหาศาล

 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้จัดทำรายงานสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคนของส่วนราชการในฝ่ายพลเรือนและแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ เสนอให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี

 

โดยรวบรวมจากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรของไทยในประเทศ ปี 2564 โดยพิจารณาสัดส่วนกำลังคนที่เป็นแรงงานในภาพรวม เทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ในประเทศ จำนวน 66.17 ล้านคน พบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน จำนวน 38.63 ล้านคน 

 

โดยเป็นการจ้างงานในส่วนของกำลังคนภาครัฐ จำนวน 2.41 ล้านคน ประกอบด้วย 

  • ข้าราชการ จำนวน 1.68 ล้านคน 
  • ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานจ้าง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน) จำนวน 1.23 ล้านคน

 

ผ่างบข้าราชการ ไม่เกิน 10 ปี เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ แซงงบบุคลากร

สำหรับข้อมูลกำลังคนภาครัฐ ประเภทข้าราชการ จำนวน 1.68 ล้านคน แยกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 427,525 คน
  • พลเรือนสามัญ จำนวน 421,228 คน
  • ทหาร จำนวน 325,053 คน
  • ส่วนท้องถิ่น จำนวน 250,670 คน
  • ตำรวจ จำนวน 213,208 คน
  • องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จำนวน 22,838 คน
  • พลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 13,422 คน
  • ตุลาการ จำนวน 5,429 คน
  • อัยการ จำนวน 4,236 คน
  • รัฐสภา จำนวน 3,106 คน

 

ข้อมูลกำลังคนภาครัฐ ประเภทข้าราชการ

ส่วนข้อมูลกำลังคนภาครัฐ ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ จำนวน 1.23 ล้านคน แยกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 

  • พนักงานจ้าง จำนวน 258,276 คน
  • ลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 228,543 คน
  • พนักงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 214,860 คน
  • พนักงานราชการ จำนวน 149,537 คน
  • พนักงานมหาวิทยาลัย จำนวน 129,469 คน
  • พนักงานกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 123,830 คน 
  • ลูกจ้างประจำ จำนวน 119,000 คน
  • พนักงานองค์การมหาชน จำนวน 13,090 คน

 

ข้อมูลกำลังคนภาครัฐ ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาภาพรวมและแนวโน้มกำลังคนภาครัฐ ระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 – 2563 พบว่า ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย 1.68% โดยประเภทกำลังคน ที่มีแนวโน้มลดลงมากที่สุด มีดังนี้

  • ลูกจ้างประจำ ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันยุบเลิกไปแล้ว 49.66% หรือเฉลี่ย 4.97% ต่อปี จำนวน 117,379 อัตรา
  • ลูกจ้างชั่วคราว ลดลง 41.71% หรือเฉลี่ย 4.17% ต่อปี จำนวน 163,542 อัตรา) 

 

สำหรับกำลังคนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีดังนี้ 

  • พนักงานจ้าง เพิ่มขึ้น 108.88% หรือเฉลี่ย 10.89% ต่อปี จำนวน 134,627 คน
  • พนักงานราชการ เพิ่มขึ้น 37.82% หรือเฉลี่ย 3.78% ต่อปี จำนวน 41,033 คน
  • ข้าราชการ เพิ่มขึ้น 5.35% หรือเฉลี่ย 0.54% ต่อปี จำนวน 69,196 คน

 

แนวโน้มกำลังคนภาครัฐ ระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 - 2563

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้าราชการสังกัดฝ่ายบริหาร (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คิดเป็น 0.12% โดยข้าราชการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีดังนี้ 

 

ข้าราชการพลเรือนสามัญ เพิ่มขึ้น 16.18% หรือเฉลี่ย 1.62% ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวง สาธารณสุข (พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราว) ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 38,105 อัตรา ในปีงบประมาณ 2563 และการจัดสรรอัตราข้าราชการให้กับส่วนราชการตั้งใหม่ 

 

ส่วนข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา มีแนวโน้มลดลง 65.75% หรือเฉลี่ย 6.57% ต่อปี เป็นผลมาจากการยุบเลิกอัตราข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

 

ส่วนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีแนวโน้มลดลง 6.79% หรือเฉลี่ย 0.68% ต่อปี และข้าราชการตำรวจมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย 0.21% หรือเฉลี่ย 0.02% ต่อปี