Side effect ดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค”ท่วมโซเชียล

13 ธ.ค. 2564 | 05:42 น.

วงการสื่อสารจับตา Side Effect ดีลควบรวมทรู-ดีแทค หลังกระแสยี้ท่วมโซเชียล ลูกค้าผู้ใช้บริการ 2 ค่ายเริ่มลังเลตบเท้าขอย้ายค่าย -เทดีลควบรวมเป็นแถว แม้เจอลูกเล่นสกัดทุกช่องทาง ขณะคู่ค้า-ซัพพลายเออร์ แม้กระทั่งพนักงานต่างระทึกหวั่นอนาคตถูกบีบหน้าเขียว

หลังจากกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)และกลุ่มเทเลนอร์ได้ประกาศดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”ไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเพื่อกรุยทางไปสู่การจัดตั้ง “บริษัทเทคคอมปานี”ชั้นนำของประเทศ ที่หวังผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในระดับภูมิภาค แต่กลับปรากฏว่า เสียงสะท้อนของนักวิชาการ และกระแสยี้ของผู้คนในสังคมที่มีต่อ ดีลควบรวมครั้งนี้ กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เพราะเกรงว่าจะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยถอยหลังลงคลองและเดินไปสู่ตลาดผูกขาดที่มีผู้เล่นน้อยราย เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเสียมากกว่า

Side effect ดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค”ท่วมโซเชียล

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม ได้ตั้งข้อสังเกตต่อกระแสวิพากษ์ของสังคมที่มีต่อดีลควบรวมในครั้งนี้ว่า ไม่เพียงจะทำเอาการควบกิจการของสองค่ายยักษ์สั่นสะเทือน ยังทำเอาหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช.และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) นั่งไม่ติดอีกด้วย

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ดีลควบรวมกิจการของสองค่ายยักษ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะทำให้ตลาดโทรคมนาคมไทยที่มีผู้เล่นน้อยรายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เหลือ ผู้เล่นที่เป็น Operator อยู่แค่ 2 รายใหญ่เท่านั้น ซึ่งหาได้สะท้อนให้เห็นถึงความเติบใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอย่างที่ทุกฝ่ายต้องการ แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการ ถอยหลังลงคลอง ย้อนกลับไปนับ 10-15 ปีไม่ต่างจากพัฒนาการด้านการเมืองและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศที่นับวันก็ยิ่งถอยหลังลงคลอง เพราะการที่ตลาดโทรคมนาคมไทยเหลือผู้เล่นอยู่เพียง 2 รายใหญ่ ที่เป็นการย้อนไปสู่ยุคที่ประเทศไทยเพิ่งรู้จักตลาดมือถือกันใหม่ ๆ เมื่อ 15-20 ปีก่อน

 

 “ ใครที่ผ่านยุคดังกล่าวมาต่างรู้แก่ใจดีว่า ผลกระทบต่อลูกค้าผู้ใช้บริการเป็นอย่างไร ลูกค้าผู้ใช้บริการต้องถูกบังคับให้จ่ายเงินกินเปล่า เมื่อต้องซื้อเครื่องเปิดเบอร์ใหม่ ต้องจ่ายค่าบริการโทรเข้า-ออกกันแพงหูฉี่ ถูกบังคับให้ต้องรับสภาพจะย้ายค่ายบริการก็ยากเย็นแสนเข็ญแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” 

 

ด้วยเหตุนี้ เสียงสะท้อนจากนักวิชาการและกระแสยี้ของสังคมที่กระหึ่มโซเชียล ถือเป็น Side Effect ที่ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ที่ก่อนหน้าเคยออกมาระบุว่า คงไม่สามารถจะทัดทานดีลควบรวมกิจการที่ว่าได้เพราะกฎหมายกำกับดูแลอย่าง พรบ.กสทช.ปี 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไม่รู้กี่เวอร์ชั่นไม่เปิดช่องให้นั้น ถึงกับตั้งรับก้อนอิฐ ก้อนกรวดที่ผู้คนในสังคมถล่มกันเป็นรายวันไม่ไหว จนต้องปรับเปลี่ยนท่าทีพร้อมจะตรวจสอบดีลควบรวมที่ว่านี้   

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ไม่เพียงแต่นักวิชาการ  กรรมาธิการ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งกสทช.-กขคที่นั่งไม่ติดกับดีลควบรวมครั้งนี้ แม้แต่คู่ค้า ซัพพลายเออร์ ร้านค้ามือถือ  หรือหน้าเคาท์เตอร์จำหน่ายมือถือ  รวมถึงพนักงานของ 2 ค่ายยักษ์ที่กำลังตีปี๊บจะพลิกโฉมหน้าโทรคมนาคมไทยเองยังต่างก็ลุ้นระทึกหายใจไม่ทั่วท้องไปตาม ๆ กัน

 

เพราะบทเรียนของการควบรวมกิจการในภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน ธนาคาร หรือแม้การะทั่งกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ที่ดำเนินการกันไปทั่วโลกก่อนหน้านั้น แม้จะมีผลดีแห่งการ Synergy ดึงพลังแฝงพลังแห่งความแกร่งออกมาโชว์เต็มหน้าตัก แต่ก็มักลงเอยด้วยก็ปรับลดค่าใช้จ่าย ลดการลงทุนซ้ำซ้อน ยุบรวมศูนย์บริการหรือสาขา ทั้งงานหน้าเคาท์เตอร์ และแบ็ค ออฟฟิศ  ศูนย์บริการที่เคยตั้งประจัญหน้ากันในห้าง หรือย่านชุมชนไม่พ้นต้องยุบรวม ลูกค้าที่มีก็ต้องโยกกันให้วุ่น จึงทำให้พนักงานต่างขวัญผวาไม่รู้อนาคตข้างหน้าจะอยู่ในข่ายที่ต้องถูกเลย์ ออฟไปด้วยหรือไม่

 

ขณะที่ บรรดาคู่ค้า ซัพพลายเออร์ ผู้จำหน่ายโทรศัพท์ หรือเคาน์เตอร์ที่ต้องรับช่วงจาก 2 ค่ายยักษ์ไปทำตลาดต่อ เมื่อทั้งสองค่ายหลอมรวมเป็นบริษัทเดียวกัน ย่อมมีอำนาจต่อรองเพิ่มมากขึ้นโดยปริยาย จะปรับเปลี่ยน เงื่อนไข บีบเค้นคู่ค้า ซัพพลายเออร์กันได้อย่างไรนั้น บทเรียนแห่งการควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งของบริษัทแม่ที่ดำเนินการไปก่อนหน้าเป็นคำตอบที่ทุกฝ่ายต่างประจักษ์กันดี

 

เหตุนี้ Side Effect  ที่สะท้อนออกมาตลอดห้วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเป็นไปในทิศทางลบซะเป็นส่วนใหญ่ บรรดาลูกค้าผู้ใช้บริการเริ่มเคลื่อนไหวจะเฮโลย้ายค่าย หรือเท 2 ค่ายยักษ์มือถือที่กำลังตีปี๊บควบรวมกิจการกันซะงั้น เพราะขนาดพนักงานของ 2 ค่ายยักษ์ยังลุ้นระทึก ไม่รู้อนาคตตนเอง แล้วประชาชนผู้ใช้บริการจะหวังพึ่งบริการที่มีคุณภาพอะไรเอา จากดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ที่ว่านี้

 

“ดังนั้น ความหวังทั้งมวลในการที่จะทัดทาน หรือยับยั้งดีลแห่งการควบรวมธุรกิจที่สวนกระแสยี้ของผู้คนในสังคมเช่นนี้ จึงขึ้นอยู่กับพลังของผู้คนในสังคมที่จะรวมพลังกันกดดันและสั่งสอนพฤติการณ์เห็นแก่ได้ของกลุ่มทุนธุรกิจแบบนี้กันแค่ไหน จะไปคาดหวังว่าหน่วยงานกำกับดูแล หรือรัฐบาลคงจะตระหนักรู้ และใช้อำนาจระงับยับยั้งด้วยเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนนั้น  กำพืดของนักการเมืองและข้าราชการที่เห็นแก่ได้และ สมยอมกับอำนาจและทุนนั้น ทุกฝ่ายต่างก็ประจักษ์กันดีอยู่แล้ว”