ปม “ผูกขาด-ดูแลผู้บริโภค” ชี้ชะตาควบรวม”ทรู-ดีแทค”

02 ธ.ค. 2564 | 05:20 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย… บากบั่น บุญเลิศ

ผ่านมาเกือบ 15 วัน แต่ประเด็นการประกาศควบรวมกิจการกันของ TRUE & DTAC เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจภายใต้คอนเซ็ปต์ความร่วมมือแบบ 50-50 ไม่มีฝ่ายใดถือหุ้นไว้มากกว่ากัน ท่ามกลางกระแสผู้คนที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากอาจจะเกิดความผูกขาดในเรื่องการแข่งขันและปัญหาว่าด้วยเรื่องราคาในการบริการของผู้บริโภค
 

ผมได้พูดคุยสอบถาม ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนาพงศ์ ปรมาจารย์ด้านกฎหมายปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ในมิติของการควบรวมกิจการว่ามีข้อพิจารณาในมิติของการควบรวมกิจการโทรคมนาคมอย่างไร ผมเห็นว่า...มีสาระหลายอย่างที่เราควรติดตามพิจารณา


ในฐานะผู้มีประสบการณ์การทำ M&A มาหลายกรณีคุณกิติพงศ์ตั้งประเด็นข้อพิจารณาไว้น่าสนใจหลายประการ  

ประการแรก  การควบรวมรูปแบบของ บริษัทโทรคมนาคมของ TRUE และ DTAC เข้าด้วยกันนั้น ถือได้ว่าเป็นการควบรวมแบบ Horizontal Mergers หรือที่เรียกกันว่า “เป็นการควบรวมบริษัทในแนวนอน เพื่อการขยายธุรกิจ” ซึ่งรูปแบบการควบกิจการแบบนี้ มีตัวอย่าง เช่น กรณีของกลุ่มบริษัท ปตท. ที่ควบบริษัทของ PTTAR เข้ากับ PTTCHEM จนกลายเป็น “PTT Global Plc.” ซึ่งมีความเข้มแข็งมากในปัจจุบัน


ประการที่สอง การควบกิจการรอบนี้เป็นการสร้างกำลังผนึกของกิจการ (Synergies) ไม่ว่า “ด้านการเงิน-การจัดการ-การเพิ่มอำนาจทางการตลาด-การทำให้กิจการใหญ่ขึ้น-ทำให้บริษัทใหม่มี Economy of Scale –การหาพันธมิตรร่วมทุน-ด้านภาษี” 


ประเด็นนี้ เห็นได้ชัดจากคำชี้แจงของผู้บริหารบริษัททั้ง 2 บริษัท ว่า จะเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจจากบริษัทโทรคมนาคม (Telco) เป็น บริษัท เทคโนโลยี (Techco) และจะขยายธุรกิจออกไปในภูมิภาคนี้


ประการที่สาม  การควบรวมกิจการในรูปแบบนี้ เป็นการรวมกิจการกันโดย “ไม่ต้องใช้เงินสด” แต่ “เป็นการแลกหุ้นระหว่างกัน” นอกเหนือจากการทำคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้น ของ DTAC และ TRUE ที่จะใช้บริษัท ซิทริน โกลบอล ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ถือหุ้นอยู่ใน TRUE กับ Telenor ที่ถือหุ้นใน DTAC แบบมีเงื่อนไข 


หมายความว่า “คำเสนอซื้อ” ที่จะได้นั้น “จะซื้อก็ต่อเมื่อได้หุ้นในอัตราร้อยละที่กำหนด” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นใน TRUE เช่น กลุ่ม China Mobile ได้ขายหุ้นออกมาในอนาคตได้ เป็นต้น

ประการที่สี่ การควบรวมแบบนี้ต้องมีการตรวจสอบสถานะทางการเงินและกฎหมาย (Due Diligence) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญก่อนที่คณะกรรมการจะลงมติให้มีการควบรวมกิจการ และต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท โดยบริษัทร่วมลงทุนคือ บริษัท ซิทริน โกลบอล จากัด ของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใน TRUE และ Telenor ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใน DTAC และผู้ถือหุ้นรายย่อยของทั้งบริษัท TRUE และ DTAC เพื่อลงมติควบบริษัททั้ง 2 บริษัท เข้าด้วยกันและบริษัทเดิมหายไป 

โดยต้องมีการชำระบัญชี บริษัทใหม่เกิดขึ้น เป็นบริษัทใหม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัท รับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ของบริษัทเดิมทั้ง 2 บริษัท รวมถึงใบอนุญาตต่าง ๆ ของบริษัทรับอนุญาตด้วย


ประการที่ห้า การควบกิจการ (Amalgamation) แบบนี้ จะมีไม่ภาระภาษีในระดับบริษัทของทั้ง 2 บริษัท และในระดับผู้ถือหุ้น ไม่ว่า จะเป็นผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคลไทยและต่างประเทศ ซึ่งประโยชน์ทางภาษีในการควบกิจการในรูปแบบนี้ ถือว่า  win-win ทั้งคู่ 


ถ้าเปรียบเทียบกับการทำ M&A ในรูปแบบการซื้อขายหุ้น (Share Sale) หรือซื้อทรัพย์สิน (Asset Sale) ก็จะมีภาระภาษีบริษัทและผู้ถือหุ้นสูงมาก หากมีกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง และ นิติบุคคลไทย ที่ถือหุ้นอยู่ อาจต้องเสียภาษีในจำนวนที่สูงถึง 20%

 

ปม “ผูกขาด-ดูแลผู้บริโภค” ชี้ชะตาควบรวม”ทรู-ดีแทค”


อย่างไรก็ดี กรณีธุรกรรมนี้ มีแต่ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลที่เสนอขายหุ้น ในการทำ Tender Offer ก็จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด เว้นแต่ หากเป็นนิติบุคคลที่อยู่ในอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย


ประการที่หก กรณีบริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด ที่ตั้งขึ้นมานั้น จะเป็นบริษัทร่วมทุน 50/50 ของกลุ่ม Telenor และกลุ่ม TRUE  โดยจะเป็นบริษัทที่ไปลงทุนในเทคโนโลยีและ Digital ในฐานะเป็น Venture Capital รวมทั้งการลงทุนใน Ecosystem ของระบบธุรกิจด้านเทคในโลยี โดยเปลี่ยนโครงสร้าง จากบริษัท โทรคมนาคม (Telco) ไปเป็น บริษัท เทคโนโลยี (Techco) และเป็นการขยายการลงทุนออกไปในภูมิภาค


ประการที่เจ็ด การควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC จะสำเร็จลงได้ จะต้องผ่านด่านการอนุญาตของคณะกรรมการ กสทช. หรือ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ละเอียด เพราะในขณะนี้ได้เกิดความกังวลใจ จากผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน


ถึงแม้กลุ่ม DTAC และกลุ่ม TRUE เมื่อรวมกันแล้ว จะมีส่วนแบ่งการตลาดเกินร้อยละ 50 ขณะเดียวกันภายหลังกลุ่ม AIS มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 48-49 ขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาต และเกณฑ์ในการพิจารณานั้น ประเด็นว่าด้วยเรื่องของการพิจารณาเรื่องอำนาจเหนือตลาด จะเป็นประเด็นสำคัญมากกว่ายอดลูกค้า เพราะ “รายได้ในกลุ่ม AIS” ยังคงมีมากกว่า 2 บริษัทรวมกัน


คุณกิติพงศ์ ยังตั้งข้อสังเกตในประเด็นเรื่องการผูกขาดว่า จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สาเหตุเพราะ....


ในการควบรวมของผู้รับใบอนุญาตด้านโทรคมนาคมนั้น นอกจากต้องปฏิบัติเงื่อนไขที่ คณะกรรมการ กสทช. กำหนดไว้แล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายแข่งขันทางการค้า (มาตรา 21) และ ประกาศของ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ควบคู่กันไปด้วย


คุณกิติพงศ์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ประกาศ กสทช. ให้ใช้ดัชนีกระจุกตัว TDRI โดย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจในเรื่องเครื่องมือจัดการความผูกขาดเชิงโครงสร้างคือ “ดัชนีการกระจุกตัว (Herfindhal-Hirschman Index "HHI") ที่ค่าสูงสุดคือ 10,000 หากผูกขาดรายเดียว 


อีกทั้ง การควบรวมกิจการคราวนี้ HHI ของกิจการโทรคมนาคมไทยเพิ่มจาก 3,659 เป็น 5,012 เพิ่มขึ้น 1,353 แผนก้าวกระโดดมหาศาล จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตรายและกระทบเชิงลบแก่ผู้บริโภค ถ้ารวมถึงรัฐบาล ที่จะได้รับเงินประมูลลดลง สำหรับ 6G เพราะมีผู้เล่นน้อยลง นี่จึงเป็นเรื่องที่ สภาผู้บริโภคแสดงความกังวล 


การเหลือผู้เล่นในกิจการโทรคมนาคมใหญ่เพียง 2 ราย ปัญหาของผู้บริโภคจะได้รับการดูแลอย่างไร เพราะมีตัวอย่างในประเทศสิงคโปร์ที่พบว่า เมื่อมีผู้เล่นน้อยราย อัตราค่าบริการโทรคมนาคมแพงมาก จนกระทั่งต้องเปิดให้มีหลายราย ค่าบริการก็ลดลงทันที่ และ TDRI เกรงว่า เมื่อเหลือผู้ให้บริการหลักแค่ 2 ราย ผู้บริโภคก็จะเดือดร้อน 


ประเด็นนี้ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ กสทช. และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จะต้องนำไปพิจารณาในรายละเอียดเพื่อดูว่า ผลของการรวมบริษัทกันนั้น จะเกิดการผูกขาดหรือไม่อย่างไร???


ขวากหนามในการรวมกิจการของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมในเมืองไทย ยังต้องฝ่าด่านหินผูกขาดและการคุ้มครองผู้บริโภคให้พิจารณา อีกหลายขั้นตอนครับ!