“โมลนูพิราเวียร์” ความหวังโลก...(ไม่ใช่)ขุมทรัพย์ของผู้ผลิต?

29 ต.ค. 2564 | 07:10 น.

ว่าที่ยาเม็ดรักษาโควิดเจ้าแรกของโลก “โมลนูพิราเวียร์” กำลังที่จะได้รับการอนุมัติจาก องค์การอนามัยโลก (WHO)

ซึ่งคาดว่าจะมีแถลงการณ์ข่าวดีออกมาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังการหารือกับตัวแทนของบริษัท เมอร์ค แอนด์ โค (Merck & Co.) เกี่ยวกับแนวทางการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในวันนี้ (29 ต.ค.ตามเวลาท้องถิ่น)

จากผลศึกษาพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากผู้ป่วยได้รับยาในช่วงแรกๆของการติดเชื้อ โดยบริษัทเมอร์ค เปิดเผยว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 “ทุกสายพันธุ์” ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา และสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50% 

โดย ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน

นายโรเบิร์ต เดวิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเมอร์ค เปิดเผยว่า เมอร์คพร้อมจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์จำนวนหลายสิบล้านเม็ดทันทีที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA โดยบริษัทสามารถผลิตยา 10 ล้านคอร์สในปีนี้ (2564) และจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปีหน้า (2565)

จากรายงานของฝ่ายการเงินของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค เปิดตัวเลขรายได้ทั่วโลกจากการจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์ ในปีนี้ 2564  ราว 500-1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 16,650-33,300 ล้านบาท และในปี 2565 ราว 5,000-7,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 166,500-233,100 ล้านบาท

* ความวิตกกังวลในหลายประเทศ คือ หวั่นการกว้านซื้อของประเทศที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐ จะทำให้ประเทศยากจน-ประเทศกำลังพัฒนาไม่มีโอกาสเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ 

จากรายงานของเอกสารทาง WHO ระบุถึง โครงการ Access to COVID-19 Tools Accelerator (ACT-A) ของ WHO มีแผนจะจัดซื้อ "ยาที่ใช้รับประทานตัวใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง" รวมทั้งยาอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 จำนวน 28 ล้านคอร์ส ในราคาคอร์สละ 10 ดอลลาร์

แต่ที่แน่ๆ มีข่าวดีจากรายงานล่าสุด (27 ต.ค.) องค์การสิทธิบัตรยา (MPP) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้บรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับ บริษัทเมอร์ค และ บริษัท ริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนายา โดยบริษัททั้งสองจะอนุญาตให้บริษัทยาในประเทศต่างๆ ราว 105 ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและแอฟริกา สามารถผลิตยาโมลนูพิราเวียร์โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (รอยัลตี) แก่เมอร์ค ตราบที่ WHO มีความเห็นว่าโรคโควิด-19 ยังคงถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยาดังกล่าว 

ทั้งนี้ การผลิตยาโมลนูพิราเวียร์โดยโรงงานของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับใบอนุญาตการผลิต จะช่วยทำให้ราคายาโมลนูพิราเวียร์ (ซึ่งการรักษา 1 คอร์สต้องใช้ยาประมาณ 5 วัน) ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณคอร์สละ 20 ดอลลาร์ (ประมาณ 664 บาท/คอร์ส) ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับราคาที่รัฐบาลสหรัฐซื้อยาดังกล่าวจากบริษัทเมอร์คในราคาคอร์สละ 712 ดอลลาร์ (กว่า 23,000 บาท/คอร์ส) 

ด้านกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ได้ติดตามการพัฒนายารักษาโรคโควิด -19 หลายตัว รวมถึงยาโมลนูพิราเวียร์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเมื่อต้นเดือนต.ค. (5 ต.ค.) ว่า หากยาโมลนูพิราเวียร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนยาโดย FDA สหรัฐแล้ว กระทรวงสาธารณสุขก็เตรียมนำเข้า 2 แสนชุด โดยขณะนี้กรมการแพทย์ได้จัดทำร่างสัญญาซื้อขายแล้ว

* บทสรุปจากรายงานต่างๆ หากว่าราคาของ “โมลนูพิราเวียร์” สามารถปรับราคาลดลงจากบริษัทผู้ผลิตยาเกือบ 4 เท่าได้จริง ความหวังที่ทั่วโลกจะมียาป้องกันโควิด-19 อย่างทั่วถึงจับต้องได้ทุกชนชั้น โลกที่สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ คงมาถึงในเร็ววัน ไม่เช่นนั้น “โมลนูพิราเวียร์” อาจเป็นเพียงแค่ขุมทรัพย์ของผู้ผลิตเพียงเท่านั้น