เช็คประสิทธิภาพ ยาโมลนูพิราเวียร์ พลิกเกมรักษาโควิด

19 ต.ค. 2564 | 04:30 น.

เช็คประสิทธิภาพ ยาโมลนูพิราเวียร์ ช่วยลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้คาดเข้าไทยพ.ย.-ธ.ค. คาดเป็นยาพลิกเกมรักษาโควิด

"โมลนูพิราเวียร์" (Molnupiravir)  ความคืบหน้าล่าสุด นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ได้ทำการเจรจากับบริษัทเมอร์ค แล้วและจัดทำร่างสัญญาแล้วทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถ้าอย.สหรัฐ อนุมัติ ก็คาดว่า ช่วงเดือน พ.ย. นี้ อย.ไทยจะอนุมัติยาดังกล่าว และต้นปี 2565 จะเริ่มใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในไทย

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การจัดซื้อโมลนูพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโควิด ไม่ได้มีการแทงม้าตัวเดียว การจัดซื้อขึ้นอยู่กับประโยชน์ของประเทศ และอิงตามความสำคัญ และผลการศึกษาวิจัยทางคลินิก พิจารณาตามความสำคัญสถานการณ์และตั้งมั่นในความไม่ประมาท แต่การจัดหาจะต้องขึ้นกับการศึกษาถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลของยานั้นๆ ต้องดูผลจากการรักษาจริงที่ได้จากการทดลองทางคลินิก และจะพยายามจัดซื้อตามความจำเป็น จัดซื้อด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศที่ควรจะต้องรักษาไว้ให้ได้มากที่สุด

ยาโมลนูพิราเวียร์ คืออะไร?

ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานมีลักษณะเป็นยาเม็ด เกิดจากความร่วมมือในการพัฒนาของบริษัท ริดจ์แบ็ค เทอราพิวทิค (Ridge Biotherapeuthics) ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัท เมอร์ค (Merck) ประเทศเยอรมันนี

โดยจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า โมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในมนุษย์หลายโรค เช่น โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ SARS) โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome หรือ MERS) และ โรคโควิด 19 (COVID-19) นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสอีโบลา (Ebola) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และไวรัสไข้สมองอักเสบบางชนิด (Encephalitis)

เช็คประสิทธิภาพ ยาโมลนูพิราเวียร์ พลิกเกมรักษาโควิด 

บริษัทเมอร์คได้เผยแพร่รายงานการทดสอบทางคลินิกเฟส 3 ของยาโมลนูพิราเวียร์ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 64 ว่า จากการวิเคระห์ข้อมูลชั่วคราวจากการทดสอบแบบสุ่ม พบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อโควิด ในการเข้าโรงพยาบาลได้ถึงประมาณ 50%

จากการทดสอบกับอาสาสมัครผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มมีอาการเล็กน้อย-ปานกลาง เป็นเวลา 5 วัน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 385 คน ได้รับประทานยาโมลนูพิราเวียร์ พบว่า มีเพียง 28 คน หรือคิดเป็น 7.3% ที่อาการรุนแรงขึ้นจนต้องเข้าโรงพยาบาล เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กินยาหลอก (placebo) พบว่า 53 คน จาก 377 คน หรือคิดเป็น 14.1% ต้องเข้าโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิต 8 ราย หลังจากผ่านมา 29 วัน ในขณะที่ผู้ได้รับประทานยาโมลนูพิราเวียร์ ไม่มีใครเสียชีวิต

แนวทางการรักษาโควิดในไทย

จะมีการใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ ฟ้าทะลายโจร หรือยาอื่นๆ รวมถึง ยาโมลนูพิราเวียร์ กรมการแพทย์ ได้มีการคุยกับคณะแพทย์ต่างๆ กำลังเก็บข้อมูลการศึกษาในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ต่อ สายพันธุ์เดลตา เพื่อมาวิเคราะห์ผลประสิทธิภาพเป็นอย่างไร รวมถึงเก็บข้อมูลในส่วนของยาชนิดอื่นๆ ในการรักษาโควิดด้วย