ยา “โมลนูพิราเวียร์” อัพเดทล่าสุดก่อน WHO และ FDA กะพริบไฟเขียวเร็ว ๆนี้    

29 ต.ค. 2564 | 02:58 น.

บริษัท เมอร์ค แอนด์ โค ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตยา “โมลนูพิราเวียร์” (molnupiravir) สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกข่าวในช่วงสัปดาห์นี้ เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลายด้านเกี่ยวกับยาดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ขอประมวลข่าวดีทั้งหมดมาไว้ที่นี่ ดังนี้  

สัปดาห์นี้มีความคืบหน้าหลายประการเกี่ยวกับ “ยาโมลนูพิราเวียร์” ทั้งในแง่การผลิต การให้สิทธิบัตร และความคาดหวังที่จะได้รับการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในเร็ววันทั้งจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( FDA) ของสหรัฐ ต่อไปนี้คือ อัพเดทความคืบหน้าล่าสุดของยาดังกล่าว

 

WHO ใกล้ไฟเขียว - คาด FDA อนุมัติต้นเดือน ธ.ค.

องค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งเมอร์คขอข้อมูลยาโมลนูพิราเวียร์ก่อนให้การอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะมีแถลงการณ์ออกมาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังการหารือกับตัวแทนของบริษัท เมอร์ค แอนด์ โค (Merck & Co.) วันศุกร์นี้ (29 ต.ค.ตามเวลาท้องถิ่น) เกี่ยวกับแนวทางการใช้ยาดังกล่าวเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19    

 

แพทย์หญิงมาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าแผนกโรคโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงวานนี้ (28 ต.ค.) ว่า WHO กำลังขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทเมอร์ค ผู้ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ เกี่ยวกับยาดังกล่าว โดย WHO กำลังทำการประเมินยาโมลนูพิราเวียร์และหวังว่าจะมีการออกแถลงการณ์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เกี่ยวกับแนวทางการใช้ยานี้เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงและอาการปานกลาง

ยา “โมลนูพิราเวียร์” อัพเดทล่าสุดก่อน WHO และ FDA กะพริบไฟเขียวเร็ว ๆนี้    

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเมอร์คระบุว่ามีประสิทธิภาพต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตาที่เป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์หลักที่ตรวจพบในหลายประเทศทั่วโลกในเวลานี้รวมถึงสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

 

ขณะเดียวกันในสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการที่ปรึกษาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคลภายนอก จะมีการประชุมในวันที่ 30 พ.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อหารือกันว่าจะให้การอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐเป็นกรณีฉุกเฉินหรือไม่ หลังจากที่บริษัทเมอร์ค ได้ยื่นเรื่องต่อ FDA เมื่อวันที่ 11 ต.ค. เพื่อขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นกรณีฉุกเฉิน

 

คณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA จะทำการพิจารณาว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์เป็นยาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางหรือไม่ ก่อนที่จะทำรายงานเสนอความเห็นแก่ FDA เพื่อประกาศอนุมัติอย่างเป็นทางการเป็นลำดับต่อไปซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นเดือนธ.ค.

 

แหล่งข่าวระบุว่า ที่ผ่านมา FDA มักมีมติสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษาดังกล่าว แม้ว่าโดยหลักการแล้ว FDA ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษาก็ตาม

 

หากได้รับการอนุมัติจาก FDA ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาเม็ดรับประทานชนิดแรกในตลาดที่ได้รับการอนุมัติสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 อย่างเป็นทางการ

ข้อดีของยาโมลนูพิราเวียร์จากผลการทดลองทางคลีนิกระยะ3

ก่อนหน้านี้ บริษัทเมอร์ค เปิดเผยว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 “ทุกสายพันธุ์” ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา และสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%

 

ผลการทดลองในระยะที่ 3 พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ มีจำนวนเพียง 7.3% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกมีจำนวน 14.1% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย

 

อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 775 รายได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการ และถูกสุ่มให้ยาโมลนูพิราเวียร์หรือยาหลอกภายในเวลา 5 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาก่อน และแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี

 

เมอร์คได้ทำการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ระยะที่ 3 ในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 170 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในสหรัฐอเมริกา บราซิล กัวเตมาลา อิตาลี แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

         

ทีมวิจัยของเมอร์คระบุว่า เนื่องจากยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่โปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วไป จึงทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์ก็ตาม ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์จะเล็งเป้าหมายไปที่ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความจำเป็นต่อไวรัสโควิด-19 ในการคัดลอกตัวเองเพื่อแพร่กระจายออกไป โดยยาโมลนูพิราเวียร์จะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสเกิดความผิดพลาดจนไม่สามารถขยายจำนวนมากขึ้น

 

ผลการศึกษาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากผู้ป่วยได้รับยาในช่วงแรกๆของการติดเชื้อ

 

ทั้งนี้ เมอร์คทำการวิจัยและพัฒนายาโมลนูพิราเวียร์ร่วมกับบริษัท ริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ โดยแบ่งเป็นการทดลองสำหรับการเป็น “ยารักษา” และ “ยาป้องกัน” โรคโควิด-19

ยา “โมลนูพิราเวียร์” อัพเดทล่าสุดก่อน WHO และ FDA กะพริบไฟเขียวเร็ว ๆนี้    

ความหวังของผู้ป่วย และขุมทรัพย์ของผู้ผลิต

นางแคโรไลน์ ลิตช์ฟิลด์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค เปิดเผยว่า เมอร์คจะมีรายได้ทั่วโลกในปีนี้ (2564) จากการจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์ ราว 500-1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 16,650-33,300 ล้านบาท หากยาดังกล่าวได้รับการอนุมัติจาก FDA หลังจากที่บริษัทได้ยื่นขออนุมัติไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค. และคาดว่าจะได้รับการอนุมัติการใช้ยาเป็นกรณีฉุกเฉินจาก FDAในช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้

 

เมอร์คยังประมาณการณ์ว่า บริษัทจะมีรายได้จากการจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์ 5,000-7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 166,500-233,100 ล้านบาทในปีหน้า (2565) อย่างไรก็ดี บริษัทจะต้องแบ่งกำไรจากการจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์อย่างเท่าเทียมกันให้แก่บริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ ซึ่งเป็นบริษัทพันธมิตรที่ร่วมพัฒนายาดังกล่าว

 

ถามว่าบริษัทมีความพร้อมในการผลิตและส่งมอบยาให้แก่ประเทศผู้ซื้อมากน้อยแค่ไหน นายโรเบิร์ต เดวิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเมอร์ค ให้คำตอบว่า เมอร์คพร้อมจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์จำนวนหลายสิบล้านเม็ดทันทีที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA โดยบริษัทสามารถผลิตยา 10 ล้านคอร์สในปีนี้ (2564) และจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปีหน้า (2565)

 

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงยา 1 คอร์ส นั่นหมายความว่า ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน

 

ผู้ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์รายใหญ่ในขณะนี้ คือ รัฐบาลสหรัฐที่ได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ไว้แล้วจำนวน 1.7 ล้านคอร์ส โดยใช้วงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 40,000 ล้านบาท

 

กำไรอู้ฟู่ของบริษัทยา-การลดต้นทุนผลิตสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

เมอร์ค เป็นผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นขุมทรัพย์สร้างรายได้หลายชนิด อาทิ ยารักษาและวัคซีนป้องกันโรคมะเร็ง  ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ต.ค. บริษัทเผยตัวเลขกำไรสูงกว่าคาดในไตรมาส 3 โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายยา Keytruda ซึ่งเป็นยารักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งยอดขาย Gardasil ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

 

บริษัทมีกำไรที่ระดับ 1.75 ดอลลาร์/หุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.55 ดอลลาร์/หุ้น นอกจากนี้ เมอร์คได้ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรประจำปีนี้สู่ระดับ 5.65-5.70 ดอลลาร์/หุ้น จากเดิมที่ระดับ 5.47-5.57 ดอลลาร์/หุ้น โดยการปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรประจำปีนี้ “ยังไม่รวม” ยอดขายยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจาก FDA ก็จะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้มียอดสั่งซื้อจากหลายประเทศเข้ามาแล้ว ล็อตใหญ่เป็นยอดจากรัฐบาลสหรัฐ ที่สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส ในวงเงินถึง 1,200 ล้านดอลลาร์ (กว่า 40,000 ล้านบาท) กระทั่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า การกว้านซื้อของประเทศที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐ จะทำให้ประเทศยากจน-ประเทศกำลังพัฒนาไม่มีโอกาสเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์

 

ขณะที่ เมอร์คเอง มีโครงการให้ใบอนุญาตการผลิตยาดังกล่าวแก่บริษัทผู้ผลิตยาที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานการผลิตในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ในอินเดียมีบริษัทท้องถิ่นที่ได้รับใบอนุญาตการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คถึง 8 ราย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงนั้น ทางองค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็มีโครงการจัดสรรยาโมลนูพิราเวียร์ราคาประหยัดให้แก่ประเทศรายได้ต่ำทั่วโลก ผ่านโครงการของ WHO ที่มีชื่อว่าโครงการ Access to COVID-19 Tools Accelerator หรือ ACT-A โดย WHO จะเจรจาขอซื้อยาดังกล่าวจากเมอร์คจำนวน 28 ล้านคอร์ส ในราคาคอร์สละ 10 ดอลลาร์ หรือ 300 บาทต้น ๆ เท่านั้น

 

ก่อนหน้านี้ Harvard School of Public Health และ King's College Hospital ออกรายงานระบุว่า เมอร์คมีต้นทุนผลิตยาโมลนูพิราเวียร์เพียง 17.74 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์ส หรือราว 600 บาท และจะสามารถลดต้นทุนเหลือเพียง 7.7 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์ส หรือราว 260 บาท หากผลิตยาโดยใช้ประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เมอร์คได้คิดราคายาจากรัฐบาลสหรัฐสูงถึงคอร์สละ 700 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าต้นทุนราว 40 เท่า แต่บริษัทก็เคยออกมาระบุแล้วก่อนหน้านี้ว่า บริษัทคิดราคายาตามฐานรายได้ของประเทศผู้ซื้อด้วย

ยา “โมลนูพิราเวียร์” อัพเดทล่าสุดก่อน WHO และ FDA กะพริบไฟเขียวเร็ว ๆนี้    

ยูเอ็นช่วยประเทศกำลังพัฒนาผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาถูกลง

ข่าวดีล่าสุดที่เผยแพร่ต้นสัปดาห์นี้ (27 ต.ค.) คือ องค์การสิทธิบัตรยา (MPP) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า MPP ได้บรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับ บริษัทเมอร์ค และ บริษัท ริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนายา โดยบริษัททั้งสองจะอนุญาตให้บริษัทยาในประเทศต่างๆ ราว 105 ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและแอฟริกา สามารถผลิตยาโมลนูพิราเวียร์โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (รอยัลตี) แก่เมอร์ค ตราบที่ WHO มีความเห็นว่าโรคโควิด-19 ยังคงถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยาดังกล่าว (อ่านเพิ่มเติม:ข่าวดี "เมอร์ค" ไฟเขียวบริษัทยาทั่วโลกผลิตยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” ได้แล้ว)

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การผลิตยาโมลนูพิราเวียร์โดยโรงงานของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับใบอนุญาตการผลิต จะช่วยทำให้ราคายาโมลนูพิราเวียร์ (ซึ่งการรักษา 1 คอร์สต้องใช้ยา 5 วัน) ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณคอร์สละ 20 ดอลลาร์ (ประมาณ 664 บาท/คอร์ส) ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับราคาที่รัฐบาลสหรัฐซื้อยาดังกล่าวจากบริษัทเมอร์คในราคาคอร์สละ 712 ดอลลาร์ (กว่า 23,000 บาท/คอร์ส)

 

บริษัทยาบางรายในอินเดียที่ได้รับใบอนุญาตการผลิตจากเมอร์ค ให้สัมภาษณ์เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส สื่อใหญ่ของสหรัฐว่า บริษัทสามารถผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาประมาณคอร์สละ 10 ดอลลาร์ หรือราว ๆ 332 บาทเท่านั้น

 

หลายประเทศแห่ทาบทามขอเมอร์คตั้งโรงงานผลิต

ในบรรดาประเทศที่มองการณ์ไกลว่า ควรให้เจรจากับเมอร์คขอสิทธิบัตรจัดตั้งโรงงานผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ภายในประเทศเพื่อทำให้ราคายาดังกล่าวมีต้นทุนและราคาจำหน่ายถูกลงนั้น สองประเทศอยู่ในภูมิภาคอาเซียน นั่นก็คือ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

 

สื่อท้องถิ่นของฟิลิปปินส์รายงานอ้างอิงนายแพทย์บีเวอร์ ทาเมซิส ประธานและกรรมการผู้จัดการของบริษัท MSD (ฟิลิปปินส์) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเมอร์ค ระบุว่า บริษัทผลิตยาของฟิลิปปินส์หลายแห่งได้เริ่มทำการหารือกับเมอร์คแล้วเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการได้รับสิทธิบัตร เพื่อผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ในประเทศ และทางเมอร์คเอง ก็กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้บริษัทยาของฟิลิปปินส์ทำการผลิตยาดังกล่าว (อ่านเพิ่มเติม: ฟิลิปปินส์ได้รับ “โมลนูพิราเวียร์” รักษาผู้ป่วยโควิดเดือนหน้า )

 

ก่อนหน้านี้ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียก็เพิ่งส่งรัฐมนตรีการลงทุนและการกระทรวงสาธารณสุขเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อพบปะกับผู้บริหารของบริษัทเมอร์คในนครนิวยอร์ก (20 ต.ค.) เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ในประเทศอินโดนีเซีย

 

"เราต้องการเป็นมากกว่าผู้ซื้อ เราต้องการให้เมอร์คเข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ในอินโดนีเซีย" นายลูฮัต บินซาร์ ปันด์ไจตัน รัฐมนตรีการลงทุนของอินโดนีเซียกล่าว

 

สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามการพัฒนายารักษาโรคโควิด -19 หลายตัว รวมถึงยาโมลนูพิราเวียร์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเมื่อต้นเดือนต.ค. (5 ต.ค.) ว่า หากยาโมลนูพิราเวียร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนยาโดย FDA สหรัฐแล้ว กระทรวงสาธารณสุขก็เตรียมนำเข้า 2 แสนชุด โดยขณะนี้กรมการแพทย์ได้จัดทำร่างสัญญาซื้อขายแล้ว

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจรากับผู้ผลิตจะมีการจัดยาสำหรับการรักษาผู้ป่วยจำนวน 2 แสนคน ให้กับประเทศไทย ซึ่งนอกจากบริษัทจะขึ้นทะเบียนกับ FDA (หรือ อย.สหรัฐ) แล้ว ยังต้องมีการมาขึ้นทะเบียนนำเข้ายากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยด้วยซึ่งคาดว่าจะเป็นปลายเดือนต.ค.นี้ หรือไม่ก็ต้นเดือน พ.ย.

 

อธิบดีกรมการแพทย์ คาดการณ์ว่ายาโมลนูพิราเวียร์ จะจัดส่งถึงไทยช่วงปลายเดือน พ.ย. หรือต้นเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนเรื่องราคา ยังไม่สามารถเปิดเผยเพราะเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการขายในแต่ละประเทศซึ่งไม่เท่ากัน