สพฉ. ย้ำ โรงพยาบาลปฏิเสธคนไข้ป่วยวิกฤติ มีโทษปรับสูงสุด 1 แสน

11 เม.ย. 2567 | 08:20 น.

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ย้ำ ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตช่วงหยุดยาวเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ 2567 ต้องเข้าได้ทุกโรงพยาบาล เตือน ห้ามปฏิเสธคนไข้มีโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท

11 เมษายน 2567 ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวในงานกิจกรรมโครงการสงกรานต์ปลอดภัยร่วมใจลดอุบัติเหตุถนน ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึงมาตรการเตรียมความพร้อมของ สพฉ. ในช่วงเทศกาลสงกรานต์สงกรานต์นี้ โดย ร.อ.นพ.อัจฉริยะ เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นปกติที่พี่น้องประชาชนจะมีการเดินทางข้ามพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ ซึ่งหากเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ตนเองไม่ได้มีสิทธิ์การรักษาอยู่ประจำ 

สพฉ. ขอให้ประชาชนสามารถอุ่นใจได้ว่า หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าโรงพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่งซึ่งสามารถใช้สิทธิ์รักษาฉุกเฉินได้เหมือนกับโรงพยาบาลตามสิทธิ และหากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือความพิการ สามารถเข้ารับการรักษาช่วยชีวิตภายใน 72 ชั่วโมงที่โรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้เคียง ภายใต้เงื่อนไขของนโยบาย UCEP

นอกจากนี้ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สพฉ. ได้ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่บาดเจ็บและเสียชีวิตโดยสาเหตุจะต้องไม่ได้เกิดจากความประมาท เจตนากระทำผิดกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์ที่เสี่ยงให้เกิดเหตุ โดยมีอัตราชดเชยกรณีเสียชีวิตไม่เกิน 1 ล้านบาท กรณีสูญเสียอวัยวะถาวร สูญเสียดวงตา ทุพพลภาพถาวร ให้เหมาจ่าย 300,000 บาท

ค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริงไม่เกิน 500,000 บาท

โดยผู้ยื่นคำขอต้องถือหนังสือเดินทางที่ลงตราประเภทนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เพื่อประกอบอาชีพหรือหารายได้

"สพฉ. ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าผู้ป่วยฉุกเฉินที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตหรือความพิการ จะต้องได้รับการช่วยเหลือและรักษาอย่างทันท่วงที โดยสถานพยาบาลที่ใกล้และเหมาะสม

ในส่วนของสถานพยาบาลเอกชนหากพบว่า มีการปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 มาตรา 28 ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และจะมีมีความผิดตาม พรบ. สถานพยาบาล มาตรา 36 ผู้รับใบอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 40,000 บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต" เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิ UCEP สามารถปรึกษาได้ที่ศูนย์ประสานและคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉิน สพฉ. หมายเลข 028721669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง