เปิดวิธีทำ IF เทคนิกการจำกัดอาหารสำหรับมือใหม่

04 มี.ค. 2567 | 05:20 น.

รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะวิธีทำ IF เทคนิกการจำกัดอาหารสำหรับมือใหม่ หลักการ วิธีการทำ IF มีกี่แบบ สูตรไหนที่ได้รับความนิยมพร้อมคำแนะนำผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องทำอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

การลดน้ำหนัก หรือ ควบคุมอาหารด้วย วิธีการทำ IF (Intermittent Fasting) กำลังได้รับความสนใจในกลุ่มผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักอย่างมีคุณภาพด้วยการควบคุมจำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร จากข้อมูลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเผยแพร่บทความ เรื่อง การจำกัดอาหารแบบ IF อดอย่างไรให้สุขภาพดีซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างถูกวิธีด้วยวิธีนี้มาฝาก

การทำ IF (Intermittent Fasting)

เป็นวิธีการลดน้ำหนักแบบจำกัดเวลารับประทานอาหารเพื่อช่วยควบคุมปริมาณแคลอรี่หรือพลังงานที่ร่างกายได้รับซึ่งจะส่งผลในการควบคุมน้ำหนักตัว 

หลักการทำ IF แบ่งออกเป็น 2 เวลา 

  • ช่วงเวลารับประทานอาหาร ( Feeding /Eating)
  • ช่วงเวลาอดอาหาร (Fasting)

สูตร  IF ยอดนิยม 

สูตร IF 16/ 8 คือ การรับประทานอาหาร 8 ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง 

ตัวอย่างเช่น รับประทานอาหารเวลา 10.00-18.00 น. แต่หลังเวลา 18.00 น. จะเป็นช่วงอดอาหาร เหมาะสำหรับผู้เริ่มทำ เพราะทำได้ง่ายและไม่กระทบกับชีวิตประจำวันมากเกินไป

สูตร IF อื่น ๆ เช่น

สูตร 18/6, 19/5, 20/4  เป็นการจำกัดเวลาการรับประทานที่เคร่งครัดมากขึ้น หรือสูตรการอดอาหารเป็นบางวัน เช่น 5:2 โดยจะรับประทานอาหารตามปกติ 5 วัน และอดอาหาร 2 วันต่อสัปดาห์ 

เปิดวิธีทำ IF เทคนิกการจำกัดอาหารสำหรับมือใหม่

การทำ IF ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี 

  • ไม่รับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงเกินไป เช่น อาหารไขมันสูง อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารดีและอิ่มท้องนาน เช่น โปรตีน ไฟเบอร์
  • หากรู้สึกหิวในช่วงอาหาร สามารถดื่มน้ำเปล่า ชา หรือ กาแฟไม่ใส่น้ำตาลได้ 
  • เข้านอนไม่เกิน 22.00 น.เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ดีขึ้น
  • ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ 

คำแนะนำ

ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักแบบ IF หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือมียาโรคประจำตัว ที่รับประทานอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการทำ IF เพื่อปรับรูปแบบให้เหมาะสมและเพื่อความปลอดภัย 

ภาพ/ที่มา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย