‘ปวดหลัง’ ขณะเปลี่ยนท่า สัญญาณเตือนกระดูกเคลื่อน

10 ธ.ค. 2566 | 09:30 น.

‘ปวดหลัง’ ขณะเปลี่ยนท่า สัญญาณเตือนกระดูกเคลื่อน : Tricks for Life

อาการ “ปวดหลัง” เป็น 1 ในโรคยอดฮิตของมนุษย์ออฟฟิศ ส่วนมากมักเกิดจากกล้ามเนื้อ 70 -80% สาเหตุ นอกจากนั้นจะเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น หมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน และเนื้องอกที่กระดูกสันหลัง

หากมีอาการ “ปวด” ขณะนั่งทำงานนาน นั่งขับรถเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไปจนเกิดการฉีกขาด สามารถรับประทานยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบได้ อาการดังกล่าวก็จะหายไป ซึ่งเป็นจุดสังเกตให้สามารถสันนิษฐานได้ว่าอาการปวดนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อหรือไม่ แต่หากเมื่อใดที่มีอาการปวดขณะเปลี่ยนท่า เวลาเดินได้สักระยะแล้วปวดร้าวลงขา หรือ เคยเดินได้ระยะทางไกลแต่เริ่มเดินได้ระยะทางสั้นลงเรื่อย ๆ จะบ่งชี้ได้ว่าภาวะกระดูกสันหลังของคุณกำลังประสบปัญหา ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างเร็วที่สุด

การเกิด “กระดูกเคลื่อน” เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระดูกสันหลังเคลื่อน หรือ ข้อกระดูกสันหลังเคลื่อน เกิดจากข้อกระดูกสันหลังข้อใดข้อหนึ่งเคลื่อนออกจากแนวกระดูกสันหลังไปทางด้านหน้า โดยที่กระดูกสันหลังสามารถเคลื่อนได้ทุกส่วน แต่ส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณหลังส่วนล่าง หรือระดับ L4-L5 ทำให้มีอาการปวดหลังจนทรมาน โดยเฉพาะเมื่ิอเวลาขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าทาง ภาวะดังกล่าวมักเกิดการตีบแคบของโพรงเส้นประสาทร่วมด้วย

แต่ปกติแล้วภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน จะเกิดจากหมอนรองกระดูกเสื่อมเป็นส่วนใหญ่ เพราะโครงสร้างของกระดูกจะตั้งตรงได้ ต้องอาศัยความแข็งแรงของตัวหมอนรองกระดูก 60-70% แต่ถ้าหมอนรองกระดูกเสื่อมก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนได้

2 อาการผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

1.อาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว 2.อาการปวดร้าวลงขา ทั้งสองอาการนี้ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน แม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการทั้งสองอย่างร่วมกัน แต่อาจแตกต่างกันตรงที่ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการหลัก คือ อาการปวดหลัง ในขณะที่บางรายอาจมีอาการหลักคือ อาการปวดร้าวลงขา

‘ปวดหลัง’ ขณะเปลี่ยนท่า สัญญาณเตือนกระดูกเคลื่อน

โดยการวินิจฉัยแพทย์จะส่งตัวผู้ป่วยไป X-ray ร่วมกับการทำ MRI เพื่อตรวจสอบว่ากระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทอยู่ในระดับใด ขณะที่การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนโดยไม่ต้องผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรงในการเคลื่อนของกระดูกสันหลัง หากระดับของการเคลื่อนไม่เกิน 25% สามารถรักษาได้ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ที่ส่งผลทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนเพิ่ม เช่น การยกของหนัก
  2. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน
  3. ใช้ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs ตามแพทย์สั่ง
  4. ฉีดยาระงับการอักเสบที่โพรงเส้นประสาทไขสันหลัง
  5. ทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลาง

หากอาการยังไม่ทุเลาลงและระดับการเคลื่อนของแนวกระดูกสันหลังมากกว่า 25% ขึ้นไป แพทย์จะวินิจฉัยให้เข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีการยึดนอต ซึ่งในอดีตจะการรักษาโดยการผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงสูง แต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกโดยใช้กล้องเอ็นโดสโคป จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการรักษาแบบเดิมหลายเท่า

วิธีป้องกันโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

ควรหมั่นออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว และก่อนหรือหลังเล่นกีฬาควรยืดกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนการออกกำลังกายเสมอ ที่สำคัญควรจำกัดระยะเวลาในการเล่นกีฬาประเภทที่เพิ่มแรงตึงให้กับกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องใช้การบิดตัวมาก ๆ เช่น กอล์ฟ เทนนิส ยิมนาสติก หรือยกน้ำหนักเพราะอาจเสี่ยงเกิดกระดูกสันหลังเคลื่อนได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ