กรมวิทย์ รับลูก "หมอชลน่าน" เตรียมห้องแล็บรับนโยบายคัดกรองมะเร็งครบวงจร

25 ก.ย. 2566 | 08:50 น.

กรมวิทย์ เตรียมพร้อมแล็บรองรับคัดกรองมะเร็งตามนโยบาย "มะเร็งครบวงจร" ชี้ตรวจยีนมะเร็งเต้านมอยู่ในสิทธิประโยชน์แล้ว ส่วนมะเร็งปากมดลูกมี HPV DNA Test เก็บสิ่งส่งตรวจเองได้ ขณะที่มะเร็งลำไส้สามารถตรวจจากอุจจาระได้

25 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงความพร้อมของห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เพื่อรองรับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่าง ๆ ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร ของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นโยบายเชิงรุกเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมในเพศหญิงและคัดกรองมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ และมะเร็งปอดในเพศชายว่า แล็บกรมวิทย์ฯ สามารถทำได้ที่ต่างจากเดิม คือ การตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ซึ่งเป็นการคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงเพียงแค่เจาะเลือดมาตรวจว่า มีรหัสพันธุกรรมของอะไร ถ้ามีก็จะมีความเสี่ยงการมะเร็งเต้านมสูงขึ้นหลายเท่า

ทั้งนี้ กรมวิทย์ร่วมมือกับกรมการแพทย์ โดย รพ.มะเร็งอุดรธานี ในการศึกษาอย่างจริงจัง ที่จะดูว่า คนไทยเองมีความสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหน โดยการตรวจยีนดังกล่าว เนื่องจากโรคกำลังเดินไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Precision Medicine หรือการแพทย์แม่นยำ เรื่องของยีนถ้าตรวจเจอจะพยากรณ์โรคได้ว่า ใครจะเป็นอะไรอย่างไร จะได้ไปปรับพฤติกรรมส่วนที่เหลือ

"Genetic ไม่ใช่ทุกอย่างแต่เป็นปัจจัยประมาณ 30% ที่เหลืออีก 60-70% เป็นเรื่องของพฤติกรรม ถ้าคิดว่า เสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ก็จะได้ลดพฤติกรรมที่ทำให้ซ้ำเติมหรือเป็นมะเร็งง่าย ๆ

สำหรับศักยภาพในการตรวจคัดกรองยีนมะเร็งเต้านมนั้น เนื่องจากมีการให้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่ไม่ได้ให้ผู้หญิงทุกคนตรวจเพราะจะมีเกณฑ์ในการตรวจ เช่น ต้องมีญาติสายตรง เป็นต้น ซึ่งในการตรวจจะมีการจ่ายให้ รพ.และแล็บที่ดำเนินการตรวจตรงนี้รายละ 1 หมื่นบาทต่อเคส

ถ้าเราได้เห็นความสัมพันธ์มาก ๆ คิดว่า เป็นประโยชน์ก็จะกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยกรมวิทย์มีความพร้อมถ้าจะมีการขยายการตรวจมากขึ้น เรายินดีที่จะคัดกรองให้ได้มากขึ้น" นพ.ศุภกิจกล่าว

เมื่อถามว่า มีการตรวจยีนมะเร็งเต้านมและเก็บเป็นฐานข้อมูลของประเทศมากน้อยแค่ไหนแล้วนั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีคนมาตรวจไม่มากนักแต่ถามว่า คนเป็นมะเร็งเต้านมเยอะหรือไม่นั้น ถือว่ามีจำนวนมากเพราะเป็นเบอร์ 1 เบอร์ 2 หรือเรียกว่าเป็น Big 5 ของมะเร็งซึ่งถ้ามาตรวจแล้วรู้ว่า มียีนที่มีความเสี่ยงจะได้ลดปัจจัยที่ทำให้เกิด

เราพบว่า มี 2-3 เรื่องที่เคยมีการศึกษาพบว่า สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านม คือเคยมีญาติสายตรงเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ได้ใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิดมายาวนานมาก โดยไม่ได้เปลี่ยนวิธีอื่น และภาวะอ้วน ที่จะทำให้สุดท้ายอายุมากขึ้นอาจเป็นมะเร็งเต้านม หากเราตรวจเจอยีน ทางเลือกเรายังไม่แนะนำให้ตัดนมเหมือนดาราในสหรัฐฯ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหา คือ ลดความเสี่ยงอื่นได้

นอกจากนี้ทุกรายที่ตรวจเราจะเก็บข้อมูลเป็น Data ของประเทศด้วยซึ่งมีโครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์โดยมะเร็งก็เป็นกลุ่มหนึ่งแต่ไม่ใช่แค่มะเร็งเต้านมจะมีมะเร็งทั่ว ๆ ไปโดยจะตรวจเรื่องรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ด้วย จนเป็นฐานข้อมูลประเทศต่อไป

ส่วนมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อ HPV วิธีตรวจมะเร็งปากมดลูกในอดีต จะมีการตรวจที่เรียกว่า แปปสเมียร์ (Pap Smear) ที่ต้องไปขึ้นขาหยั่งใน รพ. ให้คุณหมอตรวจ หลายคนก็ไม่ค่อยยินดีจะไปทำอัตราการตรวจจึงน้อย ตอนหลังเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น เราสามารถตรวจเชื้อ HPV ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับมะเร็งปากมดลูก ด้วย HPV DNA Test ก็ไม่ต้องมาขึ้นขาหยั่ง เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง ซึ่งแล็บมีความพร้อมในการตรวจก็จะสอดคล้องกับที่รัฐบาลประกาศว่า จะฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดสในผู้หญิงอายุ 11-20 ปี เพราะวัคซีนนี้ใช้ป้องกันเชื้อโรคตัวนี้โดยตรง

ส่วนการตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้ชายนั้น เริ่มมีเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างบริษัท บีจีไอ จีโนมิกส์ ก็กำลังทดลองอยู่ ในส่วนของการนำอุจจาระไปตรวจดูว่า มีเซลล์ที่อาจจะมีปัญหาเรื่องมะเร็งหรือไม่ โดยไม่ต้องไปสวนทวารดูกล้องซึ่งค่อนข้างยากก็ใช้การเก็บอุจจาระเอามาตรวจซึ่งกำลังดูว่า มีความสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหนกับมะเร็งในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ นพ.ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย