เตือน!สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดีเชื้อโควิดจะอยู่ได้นานขึ้น

24 มิ.ย. 2566 | 03:28 น.
อัพเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2566 | 03:28 น.

เตือน!สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดีเชื้อโควิดจะอยู่ได้นานขึ้น หมอธีระเผยผลงานวิจัยจากทีมมหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร พบสภาพอากาศมีภาวะเป็นกรดจะทำให้ไวรัสคงอยู่ในอากาศได้นาน

โควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นที่น่าสนใจก็คือการเชื้อโควิดสามารถอยู่ได้นานแค่ไหนในอากาศ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ โดยมีข้อความระบุถึงความคงอยู่ของเชื้อโควิด-19 ว่า

ภาวะที่เป็นกรดจะทำให้ไวรัส COVID-19 อยู่ในอากาศได้นานขึ้น

หมอธีระบอกว่า งานวิจัยจากทีมมหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร เผยแพร่ในวารสาร Journal of the Royal Society Interface วันที่ 21 มิถุนายน 2023

ทำการประเมินความคงอยู่ของไวรัสในอากาศในสภาวะต่างๆ ทั้งในแง่ความชื้น และภาวะกรดด่างของอากาศ

สาระสำคัญคือ การพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ถ้าสภาพอากาศมีภาวะเป็นกรดจะทำให้ไวรัสคงอยู่ในอากาศได้นานขึ้น

เราพอจะประยุกต์ใช้ความรู้นี้มาอธิบายในชีวิตจริงได้ว่า สภาพแวดล้อมที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี มีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์มาก 
 

ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะเป็นกรดได้มากขึ้น และหากมีไวรัสโควิด-19 อยู่ในอากาศ ก็จะคงอยู่ได้นานขึ้นเช่นกัน

จึงเป็นอีกหลักฐานวิชาการที่สนับสนุนคำแนะนำให้เราเลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี 

สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดีเชื้อโควิดจะอยู่ได้นานขึ้น

การปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่กินดื่ม ที่เที่ยว ที่ทำงาน และที่พักอาศัย ให้ระบายอากาศให้ดีขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้

หมอธีระ บอกต่อไปอีกว่า ทีมงานจาก National Institute of Infectious Diseases ประเทศญี่ปุ่น ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ Emerging Infectious Diseases ฉบับเดือนสิงหาคม 2566

โดยศึกษาลักษณะการระบาดในแถบโทยาม่า ประเทศญี่ปุ่น เปรียบเทียบตั้งแต่การระบาดก่อนสายพันธุ์อัลฟ่า, อัลฟ่า, เดลต้า, และ Omicron

พบว่า ช่วงที่เป็นการระบาดของสายพันธุ์ Omicron นั้น ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในครัวเรือนมากกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ ถึง 6.2 เท่า

และทำให้เกิดการติดเชื้อจากภายนอกครัวเรือนมากกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ ถึง 3.6 เท่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กเล็กจนถึงวัยรุ่น ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อในยุค Omicron สูงกว่าสมัยสายพันธุ์ก่อนๆ อย่างมาก 

ทั้งนี้อัตราการติดเชื้อภายในครัวเรือนของกลุ่มเด็กและวัยรุ่น สูงกว่าเดิมถึงเกือบ 13 เท่า (จาก 3% เพิ่มเป็น 38%) ในขณะที่วัยสูงอายุนั้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า

ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของมาตรการป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ แต่รวมถึงเด็กเล็กและวัยรุ่นด้วย