ผงะ!โควิดสายพันธุ์ "Omicron" มีการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าเคลต้าสิบเท่า

23 มิ.ย. 2566 | 02:18 น.

ผงะ!โควิดสายพันธุ์ "Omicron" มีการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าเคลต้าสิบเท่า หมอธีระเผยรายงานการศึกษาจากทีมงาน US CDC ที่เผยแพร่ในวารสาร MMWR ด้านหมอยงชี้การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องแปลก

โควิด 19 ยังคงพบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วพบว่ามีการติดเชื้อซ้ำเป็นจำนวนมาก 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ โดยมีข้อความเกี่ยวกับการติดเชื้อซ้ำของโควิด-19 ว่า

การติดเชื้อซ้ำในยุค Omicron (โอมิครอน) สูงกว่าสมัยเดลต้าหลายสิบเท่า

รายงานการศึกษาจากทีมงาน US CDC เผยแพร่ในวารสาร MMWR วันที่ 23 มิถุนายน 2566

จากการติดตามจนถึงปลายปีที่แล้ว พบว่าอัตราการติดเชื้อซ้ำในยุค Omicron นั้นสูงกว่าสมัยสายพันธุ์เดลต้าอย่างมาก

โดยหากดูในบรรดาผู้ที่ติดเชื้อ จะพบว่าอัตราติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) ในยุค Omicron จะมากกว่าเดลต้าถึง 20-40 เท่า

ในขณะที่หากดูในผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าเป็นการติดเชื้อซ้ำในยุค Omicron มากกว่าเดลต้าถึง 10-20 เท่า

ผลการศึกษานี้จึงเป็นหลักฐานที่จะกระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตประจำวัน
 

ระมัดระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี เลี่ยงการกินดื่มร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

หากไม่สบาย ควรรีบตรวจรักษา ถ้าตรวจพบว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วันจนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำได้ผลลบ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

โควิดสายพันธุ์ Omicron มีการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าเคลต้าสิบเท่า

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

ติดแต่ละครั้ง เสี่ยงป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ได้

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า   

โควิด 19 สายพันธุ์ที่พบ XBB เกือบทั้งหมด การติดเชื้อช้ำไม่ใช่เรื่องแปลก 

หมอยงบอกว่า การระบาดของโควิดเป็นไปตามฤดูกาล ในฤดูฝนตามที่เคยคาดการณ์ไว้และคงจะระบาดไปจนถึงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และจะเริ่มลดลงในเดือน กันยายน 

สายพันธุ์ที่พบขณะนี้เกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ XBB โดยพบว่าสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลัก 

จากข้อมูลการศึกษาพบว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนที่ฉีดในอดีต โดยเริ่มต้นจากสายพันธุ์อู่ฮั่น 

และเพิ่มสายพันธุ์ BA.5 ในวัคซีน 2 สายพันธุ์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ XBB ได้ 

การติดเชื้อซ้ำอย่างที่เคยกล่าวแล้ว การศึกษา 250 คน พบว่าความรุนแรงครั้งที่ 2 น้อยกว่าครั้งแรกมาก 

การจะติดเชื้อครั้งที่ 3 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไป ก็เป็นใหม่ได้อีก 

โควิด 19 ก็เช่นเดียวกันเมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไป ก็เป็นได้อีกแต่ภูมิคุ้มกันหลัก พอช่วยปกป้องลดความรุนแรงลงแต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ

ในอนาคตการให้วัคซีนจะต้องมีการคาดคเน ไว้ล่วงหน้าแบบไข้หวัดใหญ่ 

ว่าสายพันธุ์ที่จะระบาดจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เช่นขณะนี้องค์การอนามัยโลกแนะนำบริษัทวัคซีนให้ผลิตวัคซีนที่เป็นสายพันธุ์ XBB 

แต่ในกระบวนการผลิต ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อถึงเวลานั้นไวรัสก็จะเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปอีก การวิ่งไล่จับก็จะไม่ทัน 
อย่างไรก็ตาม หมอยงบอกว่า มีเรื่องดีที่ทำการศึกษาคือ อัตราการกลายพันธุ์ ถ้าเปรียบเทียบในระยะแรกของโควิด 19 อัตราการกลายพันธุ์เร็วและสูงมาก 

แต่พอมาถึงในช่วงของปีที่ผ่านมาอัตราการกลายพันธุ์ ช้าลง อยู่ในอัตรา 1.2 - 6.7 ตำแหน่งต่อพันต่อปี 

ไวรัสนี้มีทั้งหมด 3 หมื่นตำแหน่ง เมื่อดูอัตรานี้แล้วจะใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ A 

ดังนั้นแนวโน้มของไวรัสนี้ ทุกอย่างก็คงจะใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ A ในอนาคต ถ้าได้รับเชื้อสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปก็มีโอกาสเป็นได้อีก