ครั้งแรกในไทย สธ.ดันร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารในเด็กฯ

23 พ.ค. 2566 | 09:55 น.

กรมอนามัย ทำประชาพิจารณ์ฟังความเห็นสาธารณะร่างก.ม.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็กเป็นครั้งแรก หวังคุมการตลาด การโฆษณาอาหารหวาน มันและเค็มเกินค่ามาตรฐาน หลังพบเด็กไทยอ้วนอันดับ 3 ของอาเซียน 

23 พฤษภาคม 2566 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กผ่านระบบออนไลน์ว่า ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ปี 2563 พบว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเด็กไทยมีภาวะอ้วนขึ้นมากกว่า 2 เท่า

โดยเด็กอายุ 1-5 ปี มีภาวะอ้วนและเริ่มอ้วน เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 11.4 เด็กอายุ 5-14 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า จากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 13.9 และเด็กอายุ 15-18 ปี มีภาวะอ้วน ร้อยละ 13.2

สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federations หรือ WOF) คาดการณ์ว่า ปี 2573 ประชาชนไทยที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรค NCDs และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในอนาคต

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ในฐานะประธานการรับฟังความคิดเห็นการประชาพิจารณ์ กล่าวเพิ่มเติมภายหลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นว่า ปัญหาสุขภาพที่เกิดกับเด็กทั้งโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ขึ้น ซึ่งเป็นร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยได้เตรียมการมากว่า 2 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ขอบเขตเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาด การโฆษณาต่างๆในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการออกกฎมาควบคุมไม่เคยมีมาก่อน

ประเทศไทยเป็นประเทศกลุ่มอาเซียน และเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.นี้ แต่ในต่างประเทศมีแล้ว เช่น ชิลี อังกฤษ ตรงนี้จะมีข้อดีในการควบคุมโฆษณาเกินจริงโดยเฉพาะอาหาร เครื่องดื่ม ขนมที่มีไขมัน ความหวาน เค็ม สูงเกินไป ซึ่งทำให้เกิดโรคเอ็นซีดีในเด็ก โดยไทยมีเด็กอ้วนเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน ซึ่งเด็กส่วนหนึ่งเชื่อและซื้ออาหารตามที่ได้รับการโฆษณาทั้งทีวี ออนไลน์ ทำให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย จึงจำเป็นต้องควบคุมการตลาดไม่ให้ส่งเสริมในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งการควบคุมตรงนี้จะจำเพาะกลุ่มอาหารที่มีสารที่เกินจากมาตรฐานที่กำหนดไว้

สำหรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มี 4 หมวด และ 1 เฉพาะกาล รวม 42 มาตรา ทั้งบทลงโทษ ขอบเขตในการควบคุม มีคณะกรรมการเกี่ยวข้องจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนซึ่งวันนี้เป็นอีกครั้งที่ทำประชาพิจารณ์

โดยวันนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 30 หน่วยงาน ทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง ฝ่ายวิชาการต่างๆ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด คาดว่าภายใน 1 ปีต้องดำเนินการเพื่อให้กฎหมายคลอดออกมาให้ได้ โดยระหว่างนี้ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์กรมอนามัยจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้

ทั้งนี้ สำหรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะไม่ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.อาหาร หรือกฎหมายลูกของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ควบคุมส่งเสริมการขายโดยในส่วนของ พ.ร.บ.อาหาร จะควบคุมเรื่องอาหารมีคุณภาพอย่างไร ปริมาณแบบไหนที่ขายได้ ทำฉลากได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะควบคุมการส่งเสริมการตลาด การโฆษณาเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องตรงสารอาหารที่จะระบุในฉลากอาหารต้องชัดเจน ทั้งไขมัน น้ำตาล เค็มต้องไม่เกินตามที่กำหนด หากเกินตามที่กำหนดก็ต้องควบคุมการส่งเสริมการตลาด การโฆษณา ส่วนกฎหมาย อย.ก็ไม่ซ้ำซ้อน คนละส่วน

อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่น่าห่วงยังเป็นช่องว่างเพราะหากไปโฆษณาแต่กระทบต่อเด็กก็ต้องลิงก์ว่า มีผลกระทบแบบนั้นก็จะไม่ให้มีการโฆษณาเพื่อไม่ให้เกิดกระทบต่อเด็กก็เป็นข้อหนึ่งที่จะลงไปในรายละเอียด

สำหรับกฎหมายฉบับนี้รวมถึง อินฟลูเอนเซอร์ด้วยพราะมีส่วนสำคัญในโฆษณา อย่างไรก็ดี อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มว่า อินฟลูเอนเซอร์ที่โฆษณาจะมีความผิดร่วมด้วยหรือไม่ ต้องพิจารณาหลายปัจจัย เนื่องจากปัจจุบันโทษยังเป็นเพียงทางแพ่งเท่านั้น   

กรณีร้านอาหารรายย่อย กลุ่มฟาสต์ฟู้ดที่ไม่มีฉลากติดชัดเจน จะอยู่ภายใต้กฎหมายนี้หรือไม่นั้น นพ.สราวุฒิ ระบุว่า อาหารที่เราจะเข้าไปควบคุม ถ้าจะมาโฆษณาได้ก็ต้องผ่านการมีฉลากแต่อาหารบางกลุ่มที่ไม่มีฉลากก็มี

เราพยายามให้ผู้ประกอบการหลายแห่งให้มาลงทะเบียนและมีฉลากก็ต้องไปผ่าน อย. ส่วนร้านเล็กๆ โฮมเมดที่ไม่มีฉลากอยู่แล้วก็จะเป็นลำดับถัดไปเป็น Next Step ซึ่งเราจะพยายามให้เข้ามาสู่ระบบเช่นกัน แต่กลุ่มเหล่านี้จะไม่ค่อยโฆษณาเท่าไร เพราะจะขายอยู่แค่ตรงนั้น

นอกจากนี้ยังควบคุมไปถึงออนไลน์ด้วย เพราะผู้บริโภคจำเป็นต้องรู้ว่ามีสารอะไรในนั้น แต่ระยะแรกจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนรายย่อยต้องค่อยเป็นค่อยไป ส่วนใหญ่เน้นการส่งเสริมให้ความรู้

พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึงสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ. ... นั้น มีทั้งหมด 42 มาตรา โดยเด็กจะหมายถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก คือ อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมันน้ำตาลโซเดียมสูงหรืออาหารและเครื่องดื่มอื่นใดที่เด็กบริโภคแล้วทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งภาวะทุพโภชนาการ พัฒนาการ หรือความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์