svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

เปิดคำแนะนำจาก WHO "วัคซีนโควิด 19" ควรใช้อย่างไร เช็คที่นี่

21 พฤษภาคม 2566

เปิดคำแนะนำจาก WHO "วัคซีนโควิด 19" ควรใช้อย่างไร เช็คที่นี่มีคำตอบ หมอธีระแนะใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความระบุถึงความรู้สำคัญเรื่องวัคซีนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งได้มีการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับวัคซีนโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

  • ปัจจุบันประชากรโลกมีระดับภูมิคุ้มกันที่หลากหลายมาก เพราะมีทั้งจากที่ได้รับวัคซีนที่แตกต่างกันหลายประเภท และที่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อน
  • สายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกขณะนี้คือ Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1 (รวมทั้ง XBB.1.5, XBB.1.16, XBB.1.9) ในขณะที่ข้อมูลจากการสุ่มตรวจสายพันธุ์ไวรัส พบว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้านั้น คาดว่าไม่ได้มีการระบาดในคนแล้ว
  • ไวรัสตระกูล XBB นั้นมีสมรรถนะการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้สูงมาก โดย XBB.1.5 นั้นถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด
  • ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนต่อไวรัส Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1 นั้นมีจำกัด และมีทั้งที่พบว่าได้ผลพอๆ กับ BA.5 และที่พบว่าประสิทธิผลลดลงกว่าตอน BA.5 ระบาด
  • ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด หรือแอนติบอดี้ ของคนที่ได้รับวัคซีน 2-4 เข็ม รวมถึงเข็มกระตุ้นจากวัคซีนสองสายพันธุ์ (Bivalent vaccine) นั้นพบว่า XBB.1 ดื้อต่อภูมิมากกว่าสมัย BA.5 ระบาด ในขณะที่คนที่เคยได้รับวัคซีน และเคยติดเชื้อมาก่อน จะมีระดับภูมิคุ้มกัน (Hybrid immunity) ที่สูงกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อ 
  • ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการ มีรายงานพบปรากฏการณ์ Immune imprinting ซึ่งหมายถึงการที่ระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ ประเภท B-cells มีการจดจำแอนติเจนจากวัคซีนที่ใช้สายพันธุ์เดิม และอาจทำให้การตอบสนองต่อแอนติเจนไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลยืนยันผลกระทบทางคลินิกในชีวิตจริง

เปิดคำแนะนำจาก WHO เกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ควรใช้อย่างไร

  • ข้อมูลที่ทางบริษัทวัคซีนแชร์ให้กับทางองค์การอนามัยโลก พบว่าการใช้วัคซีนใหม่ ที่ใช้แอนติเจนสายพันธุ์ไวรัส XBB.1 โดยตรง จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดได้สูงกว่าวัคซีนเดิมที่ใช้กันในปัจจุบัน

หมอธีระ บอกว่า ข้อสรุปจากทาง WHO นั้นแนะนำว่า ในอนาคตแต่ละประเทศควรพิจารณาใช้วัคซีนที่เป็นแบบสายพันธุ์เดียว (monovalent vaccine) ที่ปรับสายพันธุ์ให้ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด และไม่ควรใช้วัคซีนที่มีการบรรจุสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งเป็นรุ่นเก่าด้วยเหตุผลจากข้อมูลวิชาการต่างๆ ข้างต้น แม้ว่าวัคซีนรุ่นเดิมๆ จะยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ก็ตาม

อย่างไรก็ดี หมอธีระ บอกอีกว่า คำแนะนำข้างต้นคงเป็นข้อเสนอที่ท้าทายสำหรับแต่ละประเทศ ในการนำไปวางแผนจัดการระบบวัคซีนสำหรับประชาชนในระยะยาว
ทิศทางแนวโน้มเรื่องวัคซีนในอนาคตนั้น การฉีดปีละครั้ง และปรับตามสายพันธุ์ที่ระบาดหรือคาดการณ์ว่าจะระบาด คงมีความเป็นไปได้มากที่สุด 
 

แต่ด้วยศักยภาพปัจจุบัน การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ยังไม่สามารถทำได้อย่างแม่นยำ การปรับวัคซีนให้ตามสายพันธุ์ไวรัสให้ทันจึงท้าทายอย่างยิ่ง 

และที่ท้าทายยิ่งกว่าคือ การผลิต การจัดหา และจัดบริการ ให้ทันกับสถานการณ์ระบาด เพียงแค่สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ก็ทำให้ครอบคลุมได้ยากทีเดียว
ดังนั้น พฤติกรรมการป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง 

สำหรับไทยเรา การระบาดยังมีมากภายในประเทศ สิ่งที่ทำได้คือ การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท 

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก