ผ่าอาณาจักร “วิมุต โฮลดิ้ง” ปั้นเฮลท์แคร์ สู่ New S Curve

07 พ.ค. 2566 | 22:30 น.

กางแผนสร้างอาณาจักรเฮลท์แคร์ “วิมุต โฮลดิ้ง” ทุ่มเงิน 1.7 หมื่นล้านใน 5 ปี หวังต่อยอดเป็น New S Curve มั่นใจสิ้นปีทำรายได้ทะลุ 2,000 ล้านบาทเติบโต 50%

หลังประสบความสำเร็จจากโปรเจ็กต์แรกคือ “โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน” ที่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2560 วันนี้ “พฤกษา โฮลดิ้ง” พร้อมสยายปีกรุกธุรกิจเฮลท์แคร์เต็มรูปแบบ เพื่อเป็น New S Curve สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำธุรกิจสุขภาพของ “พฤกษา โฮลดิ้ง” เกิดจากวิสัยทัศน์ของคุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ที่ต้องการจัดตั้งหน่วยงานสุขภาพเข้ามาดูแลลูกบ้านที่พักอาศัยในหมู่บ้านของพฤกษา ประกอบกับเล็งเห็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีจุดอ่อนคือ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีอสังหาริมทรัพย์จะขายไม่ออก คนวางดาวน์ยอมทิ้งเงินดาวน์

แต่สำหรับธุรกิจเฮลท์แคร์ หลายๆ หน่วยงานมีการประเมินว่าเป็น New S Curve ที่เติบโตก้าวกระโดดได้เพราะฉะนั้นการเข้ามาในธุรกิจสุขภาพของ “พฤกษา โฮลดิ้ง” จึงเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัวคือ 1. ช่วยดูแลคนและลูกบ้านในหมู่บ้านพฤกษา 2. เป็นการสปินออฟตัวเองมาทำธุรกิจอื่นที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ผ่าอาณาจักร “วิมุต โฮลดิ้ง”  ปั้นเฮลท์แคร์ สู่ New S Curve

จากโปรเจ็กต์แรก “โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน” ที่ใช้เงินลงทุนราว 4,900 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าที่ดิน 950 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง ค่าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ และอื่นๆ อีก 3,950 ล้านเป็นโรงพยาบาลขั้นตติยภูมิ (Tertiary Care) จำนวน 236 เตียง หลังจากนั้นแตกแบรนด์ลูกเป็น “คลินิกบ้านหมอวิมุต” เพื่อให้บริการการแพทย์ปฐมภูมิให้กับลูกบ้านพฤกษา โดยมี Family Medicine หรือหมอครอบครัวคอยให้บริการตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ, ป้องกันโรคและรักษา

นอกจากนี้ยังได้ขยายธุรกิจไปสู่เวลเนสและเนิร์สซิ่งโฮม จำนวน60 เตียง โดยปัจจุบันเปิดบริการเดย์แคร์และผู้ป่วยติดเตียงหรือพักฟื้นหลังผ่าตัดที่โครงการ พฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน สำหรับดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่มีพลังหรือแอ็กทีฟ เอจจิ้ง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย “อยากดูแลคนในหมู่บ้านพฤกษา” ซึ่งในโซนบางนา-วงแหวน มีหมู่บ้านพฤกษากว่า 5 หมู่บ้านรวมกว่า 3,000 หลังคาเรือน

ผ่าอาณาจักร “วิมุต โฮลดิ้ง”  ปั้นเฮลท์แคร์ สู่ New S Curve

รวมทั้งผู้พักอาศัยในหมู่บ้านใกล้เคียงให้การตอบรับและเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก และขยายบริการไปสู่ “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” รองรับการให้บริการให้คำปรึกษาสุขภาพ ติดตามการรักษาโดยระยะแรกเริ่มใช้กับคนของพฤกษาเองซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี

“เราทำ simulate และcomprehensive ครบถ้วน ต่อเนื่อง ส่งเสริมและป้องกัน ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งเรามีวิมุตแอพลิเคชั่น และต่อเนื่องมาถึงการดูแล รักษา ในออนไซต์ ซึ่งครอบคลุมทั้งคลินิกบ้านหมอวิมุต โรงพยาบาลวิมุต เวลเนสและเนิร์สซิ่งโฮมและอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนสนับสนุน เช่น แล็บ ,โพรไบโอติกส์ ที่จะมีการทำวิจัยภายในปีนี้”

ผ่าอาณาจักร “วิมุต โฮลดิ้ง”  ปั้นเฮลท์แคร์ สู่ New S Curve

นอกจากเชื่อมโยงระบบการให้บริการสุขภาพและการแพทย์ให้กับลูกบ้านในโครงการบ้านพฤกษาแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐ เช่น โครงการร่วมรามาธิบดี-วิมุต เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลรามา โดยจัดทำแพ็กเกจลดราคาให้คนไข้ของโรงพยาบาลรามาเข้ามารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลวิมุตโดยไม่ต้องรอคิว

เบื้องต้นมีโอเปอเรชั่นในการผ่าตัด 8 โอเปอเรชั่น มีคนไข้มารับการผ่าตัดแล้วกว่า 10 ราย และอยู่ระหว่างการขอเพิ่มโอเปอเรชั่นในการผ่าตัดเป็นกว่า 20 โอเปอเรชั่น นอกจากนี้ยังมีแพ็กเกจลดราคาสำหรับการให้คีโมในคนไข้มะเร็ง และในอนาคตอันใกล้จะขยายไปยังบริการดูแลคนไข้อายุรกรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพูดคุยเรื่องหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด

“โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องการเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐในลักษณะ WIN-WIN-WIN คือรพ.รามา เสมือนมีเตียงรองรับคนไข้เพิ่มโดยไม่ต้องเสียเงินสร้าง วิมุตมีคนไข้เพิ่ม และที่สำคัญคนไข้ไม่ต้องรอเตียง ซึ่งในอนาคตอันใกล้เราจะเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆเพิ่มเติม”

ผ่าอาณาจักร “วิมุต โฮลดิ้ง”  ปั้นเฮลท์แคร์ สู่ New S Curve

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากโครงการที่ลงทุนไปแล้ว วิมุต ยังมีโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุน อีกหลายโครงการ เช่นทบทวนเรื่องการขยาย “คลินิกบ้านหมอวิมุต” ภายใต้เป้าหมาย ต้องการเป็นเอาต์เล็ต เพื่อดูแลการแพทย์ปฐมภูมิให้ทั้งลูกบ้านพฤกษาและคนทั่วไป ซึ่งอาจไม่ใช่รูปแบบสแตนด์อะโลนแต่กระจายในห้างสรรพสินค้าหรือในคอมมูนิตี้ มอลล์

การขยายโรงพยาบาลเพิ่มในส่วนกลาง ซึ่งที่ผ่านมาวิมุต ได้เทคโอเวอร์โรงพยาบาลเทพธารินทร์ เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งวิมุตจะเซ็ตให้ โรงพยาบาลเทพธารินทร์เป็นโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลต่อมไร้ท่อ เพราะเป็นความเชี่ยวชาญกว่า 40 ปีในเรื่องของการรักษาเบาหวาน ไทรอยด์ และการเจริญเติบโตของเด็ก

ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรีโนเวทเพื่อเตรียมพร้อมสำหรัการรีแบรนด์เป็น “วิมุต เทพธารินทร์” ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 ขณะเดียวกันมีการลงทุนและพัฒนาโรงพยาบาลวิมุตสาขา 2 ที่ปิ่นเกล้า จะมีทั้งหมด 3 เฟส ทยอยเปิดให้บริการเฟสแรกจำนวน 60-70 เตียง และอาจขยายเต็มที่ได้ถึง 400 เตียง

ผ่าอาณาจักร “วิมุต โฮลดิ้ง”  ปั้นเฮลท์แคร์ สู่ New S Curve

ทั้งโปรเจ็กต์ใช้งบหลายพันล้านบาท เฉพาะปี 2566 ใช้งบลงทุนในธุรกิจเฮลท์แคร์รวม 2,500 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ 2,000 ล้านบาท เติบโต 50% และภายใน 5 ปีอาจมีการขยายโรงพยาบาลเพิ่มอีก 2-3 แห่งในกรุงเทพฯชั้นใน

รวมทั้งมีแผนการขยายเวลเนสและเนิร์สซิ่งโฮมในโซนกรุงเทพฯชั้นนอกและชั้นกลางให้ครบ 12-15 แห่งภายใน 4-5 ปี โดยในปีนี้ได้เปิดบริการในส่วนของเวลเนสไปแล้ว 1 แห่งคือ Senera ViMUT Health Service โดยจับมือกับ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จํากัด (JAS Asset) ร่วมก่อตั้งบริษัท ซีเนร่า วิมุต เฮลท์ เซอร์วิส จำกัด

โดยถือหุ้น 51% เพื่อดำเนินการศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุทั้งแบบค้างคืนและไม่พักค้างคืน ขนาด 78 เตียง ตั้งอยู่ที่ JAS Green Village ถนนคู้บอน ด้วยงบลงทุน 40 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มอีก 2 แห่งที่ซอยแบริ่งและวัชรพล โดยใช้งบลงทุนสาขาละ 200-300 ล้านบาท

สุดท้ายวิมุต มีแผนตั้ง แล็บวิจัย เพื่อให้บริการเจาะเลือกนอกโรงพยาบาลภายในสิ้นปีนี้ ภายใต้การร่วมทุนกับบริษัท Pathology Asia Holdings Pte. Ltd. (PAH) บริษัทโฮลดิ้งสัญชาติสิงคโปร์ เพื่อให้บริการ ตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการในไทย

“บริษัทใช้งบลงทุนไปแล้วหลายพันล้านบาท ส่วนที่อยู่ในแผนลงทุนใหม่ปีนี้ใช้จะลงทุน 2,500 ล้านบาท รวมทั้งการลงทุนขยายเตียงที่โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธินบวกกับการรีโนเวตโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ส่วนแผนขยายธุรกิจเฮลท์แคร์ใน 5 ปี (ปี 2566-2570) จะใช้เงินลงทุนรวม 1.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับการขยายแพลตฟอร์มธุรกิจเฮลท์แคร์ เพื่อให้โรงพยาบาลสนับสนุนโครงการที่พักอาศัยของพฤกษา และการดูแลสุขภาพของสังคมสูงวัยในพื้นที่กรุงเทพฯ 3 โซนหลัก คือ 1. โซนรอบใน คือการลงทุนในโรงพยาบาลเฉพาะทาง เชี่ยวชาญด้านหัวใจ สมอง กระดูก GI & NCDs 2. โซนรอบกลาง ลงทุนในโครงการเวลเนส เซ็นเตอร์และเนิร์สซิ่งโฮม และ 3. โซนรอบนอก ลงทุนในรูปแบบคลินิกบ้านหมอวิมุตด้วย”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,885 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566