เปิดวิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพ พร้อมสังเกตอาการผิดปกติ 

26 ม.ค. 2566 | 09:50 น.

เปิดวิธีรับมือป้องกันฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพ "ที่ทำงาน-โรงเรียน-สถานประกอบการ" พร้อมการสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้น

จากรายงานเฝ้าระวังของกรมควบคุมมลพิษและกรุงเทพมหานคร ระบุถึง สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงวันที่ 27-28 ม.ค. 2566 และ 31 ม.ค.-1 ก.พ. 2566 เนื่องจากสภาพอากาศนิ่งและปิดโดยฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ ตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบหัวใจและหลอดเลือด 

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงวิธีสังเกตอาการหากร่างกายได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าไปจะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งมีความรุนแรงของอาการ 3 ระดับ คือ 

ระดับเล็กน้อย เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้ง ๆ คันตามร่างกาย มีผื่น อาการ 

ระดับปานกลาง เช่น ตาแดง มองภาพไม่ชัด เลือดกำเดาไหล เสียงแหบ ไอมีเสมหะ หัวใจเต้นเร็ว 

ระดับรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย ทั้งนี้ หากมีอาการรุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที 

วิธีการเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5

1.ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ จากสื่อหรือช่องทางต่างๆ ในพื้นที่ ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุชุมชน เป็นต้น โดยให้สังเกตสีเป็นหลัก

หากเป็น "สีส้ม" และ "สีแดง" ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

2.ประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีอาชีพอยู่กลางแจ้งต้องสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานานหรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและต้องดูแลป้องกันตนเองเป็นพิเศษ

3.ในช่วงที่ฝุ่นละอองสูง ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน

4.ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูง ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทั้งหน้ากากอนามัยหรือ N95 สามารถเลือกสวมได้ความตามเหมาะสมของแต่ละกลุ่ม หรือสวมหน้ากาก 2 ชั้นได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่นได้

5.ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงฝุ่นสูง ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอโดยการเช็ด/ถูแบบเปียก

6.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในบริเวณที่มีฝุ่นสูง เช่น ริมถนน และห้ามสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกชนิดขณะออกกำลังกายโดยเด็ดขาด หรือเปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน

7.สังเกตอาการผิดปกติของร่างกายและคนในครอบครัว หากพบว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรืออาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที

โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก

ควรมีการสื่อสารสถานการณ์ และให้ความรู้แก่นักเรียนถึงอันตรายและวิธีการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง เมื่อค่า PM 2.5 อยู่ในระดับสีเหลือง-ส้ม ควรลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้งทั้งการเข้าแถวหน้าเสาธงหรือพลศึกษา

เด็กที่มีโรคประจำตัว หรือเด็กเล็ก ควรได้รับการดูแลและเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด โดยจัดให้มีห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน

มาตรการปิดโรงเรียน

ขอให้แต่ละโรงเรียนประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน โดยอาจพิจารณาจากทั้งสถานการณ์ PM 2.5 สภาพแวดล้อมและการความปลอดภัยในโรงเรียน และสถานการณ์สุขภาพ

สถานที่ทำงานและสถานประกอบการ

ให้พิจารณากำหนดมาตรการในการลดฝุ่นละออง เช่น carpool หากสถานการณ์ PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม (> 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) อาจพิจารณาให้กลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจเป็นพิเศษ อยู่ในห้องปลอดฝุ่น ลดการทำงานกลางแจ้ง เพื่อลดการรับสัมผัสฝุ่น หรือสำหรับงานที่สามารถทำงานทางไกลได้อาจพิจารณาให้ WFH ได้ตามความเหมาะสม