แนะนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายปลอดภัยฯ ดูแลลูกจ้างทำงานภายใต้อากาศร้อน

27 เม.ย. 2567 | 06:35 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2567 | 06:45 น.

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แนะนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ ช่วยกันดูแลลูกจ้างที่ต้องทำงานภายใต้สภาพอากาศร้อน หวั่นเกิดอันตรายต่อสุขภาพ

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ขอความร่วมมือนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 เพื่อช่วยกันดูแลลูกจ้างไม่ให้ประสบอันตรายและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อต้องทำงานเกี่ยวข้องกับความร้อนภายใต้สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูง

แนะนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายปลอดภัยฯ ดูแลลูกจ้างทำงานภายใต้อากาศร้อน

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ปีนี้ประเทศไทยมีอุณหภูมิในช่วงหน้าร้อนที่สูงขึ้นกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนขนาดนี้ ไม่เป็นผลดี ที่อาจส่งผลต่อผู้ที่ต้องประกอบอาชีพอยู่กลางแจ้ง ผู้ใช้แรงงาน คนทำงานที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่ปิดอับ จนก่อให้เกิดอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานในสภาพการทำงานที่ร้อนได้ เช่น เป็นตะคริว เป็นลม อ่อนเพลีย ผดผื่น หรือเกิดโรคจิตประสาทเนื่องจากความร้อน หัวใจทำงานเกินขีดจำกัด นำไปสู่ภาวะหัวใจและอวัยวะภายในล้มเหลว จนถึงแก่ชีวิตได้

ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีความห่วงใยถึงลูกจ้างที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับความร้อนภายใต้สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงในช่วงหน้าร้อน จึงขอความร่วมมือให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559

โดยมีบทบัญญัติในการควบคุม ดูแลสำหรับลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความร้อน ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าว ออกภายใต้มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2554 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความร้อนไว้ อาทิ มีการกำหนดมาตรฐานระดับความร้อน กำหนดค่าเฉลี่ยอุณหภูมิ ของงานที่ลูกจ้างทำในลักษณะต่าง ๆ ไว้

และในกรณีที่สถานประกอบการมีแหล่งความร้อนที่อาจเป็นอันตราย กำหนดให้นายจ้างติดป้ายหรือประกาศเตือน เพื่อให้ลูกจ้างมองเห็นได้ชัดเจน และในกรณีที่สถานประกอบกิจการมีระดับความร้อนเกินมาตรฐาน ให้นายจ้างดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขสภาวะการทำงานด้านวิศวกรรม เพื่อควบคุมระดับความร้อนให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งหากนายจ้างปฏิบัติถูกต้องก็จะช่วยให้ลูกจ้างได้รับการดูแล คุ้มครองไม่ให้ประสบอันตรายและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพทำงานร่วมกันได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย และหากนายจ้างสามารถจัด  สวัสดิการเพิ่มเติมที่เหมาะสมเพื่อช่วยผ่อนคลายความร้อนให้กับลูกจ้าง อาทิ เครื่องปรับอากาศ พัดลมระบายความร้อน ตู้กดน้ำเย็น หรือจัดเวลาพักให้ถี่ขึ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการทำงานในที่อุณหภูมิสูงได้อีก