1 มิถุนายนของทุกปี “วันดื่มนมโลก” (World Milk Day)

31 พ.ค. 2566 | 18:40 น.

1 มิถุนายน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization: FAO) กำหนดให้เป็นวันดื่มนมโลก (World Milk Day) เนื่องจากนมและผลิตภัณฑ์จากนมมีความสำคัญต่อโภชนาการตลอดทุกช่วงชีวิตของมนุษย์

 

เนื่องใน วันดื่มนมโลก (World Milk Day) 1 มิถุนายน เวียนมาบรรจบอีกครั้ง เรามาทบทวนกันดีกว่า ว่า นมและผลิตภัณฑ์นม นั้น มีความสำคัญอย่างไร และนมแต่ละชนิดเหมาะสมกับช่วงวัยและสภาวะร่างกายของแต่ละคนอย่างไร  

นมและผลิตภัณฑ์จากนมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะสำหรับวัยเด็ก “นม” มีความสำคัญเป็นอย่างมากในกระบวนการเจริญเติบโต นักโภชนาการแนะนำให้ดื่ม นมจืด มากกว่านมหวาน หรือนมเปรี้ยว เพราะนมจืดเป็นแหล่งอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงมากกว่านมชนิดอื่น นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยโปรตีน เกลือแร่ต่าง ๆ เช่น ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โพแทสเซียม คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และวิตามิน ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย มีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและสมอง

การดื่มนมจืดยังช่วยลดพฤติกรรมติดหวาน ส่งผลให้ไม่เป็นโรคอ้วน ดังนั้น ใน 1 วัน เราควรดื่มนมจืดอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว หรือประมาณ 400 มิลลิลิตร เพื่อการมีสุขภาพที่ดี และแข็งแรง

นมจืดเป็นแหล่งอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงมากกว่านมชนิดอื่น

ความสำคัญต่อกระดูกและฟัน

นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับทุกวัย เพราะในนมมีโปรตีนคุณภาพดีและมีปริมาณแคลเซียมสำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน โดยเฉพาะนมโคสดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไขมันต่ำ รสจืดมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก ช่วยสร้างกระดูกที่มีผลต่อพัฒนาการด้านความสูง

นอกจากนี้ นมยังเป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนที่มีคุณภาพดี ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย และสำคัญมากต่อมวลกระดูกและการขยายตัวของกระดูก ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีช่วงโตเร็วจะมีการสะสมมวลกระดูกเพิ่มขึ้นมาก ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในผู้ใหญ่

นมยังมีวิตามินต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามิน บี 1 ,บี 2 ,บี 6, บี 12, วิตามินดี แคลเซียม และฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกให้แข็งแรง

การดื่มนมของคนไทย

จากผลสำรวจพบว่า คนไทยยังดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยคนละประมาณ 14 ลิตรต่อปี ในขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี และทั่วโลกเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี หรือกล่าวได้ว่าอัตราดื่มนมในคนไทยยังต่ำกว่าประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก 4-7 เท่า (อ้างอิงข้อมูลโดยกรมอนามัย)

ข้อแนะนำการบริโภคนมให้สมกับวัย-สภาวะร่างกาย

ในมุมมองของนักโภชนาการ (นักกำหนดอาหารวิชาชีพ) ตามหลักการบริโภคอาหารของธงโภชนาการ แนะนำว่า

ในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน 1 ขวบปีขึ้นไปและเด็กวัยเรียน ควรเลือกดื่มนมรสจืด 2 แก้วต่อวัน

  • ในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน 1 ขวบปีขึ้นไปและเด็กวัยเรียน ควรเลือกดื่มนมรสจืด 2 แก้วต่อวัน (โดยปริมาตรนม 1 แก้ว เท่ากับ 240 มล.) ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง สำหรับเด็กที่มีสุขภาพดีปกติ ควรดื่มนมครบส่วน ไม่ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนยหรือไร้ไขมัน เพราะมีแหล่งพลังงาน คือ ไขมันและวิตามินเอ,ดี, อี, เค ซึ่งละลายในไขมัน และในเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินเกณฑ์ (เด็กอ้วนหรือเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์) สามารถเลือกดื่มนมพร่องมันเนยได้ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำหนักตัว
  • ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรเลือกดื่มนมรสจืด วันละ 2 แก้วและบริโภคปลาเล็กปลาน้อย 2 ช้อน กินข้าวหรือผักใบเขียวเข้ม 4 ทัพพี หรือเต้าหู้แข็ง 1 แผ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกของทั้งมารดาและทารกในครรภ์
  • ในกลุ่มวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ แนะนำให้ดื่มนมรสจืดพร่องมันเนยหรือไร้ไขมันวันละ 2 แก้ว เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุแคลเซียมเพียงพอ ป้องกันภาวะกระดูกพรุน
  • ผู้ที่ปัญหาภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนย หรือนมไร้ไขมัน ดีกว่านมปรุงแต่งรส

การเลือกดื่มนม

การเลือกดื่มนมและผลิตภัณฑ์นม ควรสังเกตที่มีเครื่องหมาย อย. รับรองอย่างถูกต้อง และอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการข้างผลิตภัณฑ์ว่า มีน้ำนมโคสดแท้กี่เปอร์เซ็นต์ ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำนมโคสดแท้ที่เปอร์เซ็นต์สูงกว่า จะได้รับสารอาหารจากนมมากกว่า

นอกจากนี้ “นม” ยังเป็นเครื่องดื่มที่มอบความสดชื่นไม่แตกต่างจากน้ำดื่ม การดื่มนมเพียงหนึ่งหรือสองแก้วจะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น และยังทำให้ได้รับคุณค่าสารอาหารที่ร่างกายต้องการอีกด้วย

ส่วนใครที่เลี่ยงการดื่มนม เพราะเชื่อว่านมทำให้อ้วนนั้น ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นนมสด นมพร่องไขมัน หรือนมไม่มีไขมัน มีปริมาณไขมันแค่เพียง 3.9% , 1.7% และ 0.3% เท่านั้น

รู้อย่างนี้แล้ว มาเริ่มต้นดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย และปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงกันเถอะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข / คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่