"ไข่ต้ม" เป็นเหตุ รู้จัก โภชนาการอาหารวัยเรียน หลังเกิดดราม่า

24 เม.ย. 2566 | 05:47 น.

หลังเกิดดราม่าตำราเรียนภาษาไทย ระบุถึง "ไข่ต้ม" มีเนื้อหาในแบบเรียน ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักโภชนาการอาหาร ที่เด็กประถมวัยควรได้รับ พามารู้จักหลักโภชนาการของเด็กวันเรียน จากฝ่ายโภชนาการ คณะแพทย์ศิริราช

หลังจากเพจเฟซบุ๊ค มาดามแคชเมียร์  ได้โพสต์ภาพหนังสือเรียนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าถึงตัวละครในในตำรา ที่เป็นเด็ก ได้ลองรับประทานข้าวคลุกกับไข่ต้มครึ่งซีก และน้ำผัดผักบุ้ง ก็รู้สึกมีความสุข นำมาซึ่งความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักโภชนาการเป็นจำนวนมาก

แบบเรียนภาษาไทย ป.5

ด้านเฟซบุ๊ค นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า อาหารที่เด็กคสรได้รับ มีทั้งเรื่องของพลังงานจากอาหาร และ คุณค่าทางโภชนาการ ทั้งโปรตีน ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของ สมอง กล้ามเนื้อ และการทำงานของ เอนไซม์ในระบบต่างๆ ของร่างกายรวมถึง วิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญ ที่ไม่ควรขาดในเด็กจึงไม่ใช่เพียง "แค่อิ่มท้อง" หรือ "แค่อร่อยปาก"

นพ.จิรรุจน์ ชมเชย

ด้าน แพรรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว แสดงความเห็นต่อการรับประทานไข่ต้มด้วยเช่นกันว่า การรับประทานอาหารให้หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการขาดสารอาหารตั้งแต่วัยเด็กไม่ใช่เรื่องโรแมนติก เพราะตนเองเคยโตมาด้วยการ แบ่งกันทานไข่ต้ม 1 ลูก กับคน 3 คนมาแล้ว

แพรรี่ โพสต์เรื่อง ไข่ต้ม

ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลถึงโภชนาการของเด็กวัยเรียน ว่าเด็กวัยเรียนหมายถึงเด็กช่วงอายุ 6 -12 ปี ซึ่งอาหารและและโภชนาการเป็นสิ่งสำคัญ ต่อการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการทางร่างกาย หากเด็กในวัยนี ได้รับอาหารไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม จะส่งผลทําให้เด็กร่างกายแคระแกรน สติปัญญาทึบ ไม่มีความพร้อมในการเรียน ประสิทธิภาพการเรียนรู้และการทํางาน พร้อมได้แนะนำอาหารที่เด็กควรจะได้รับใน 1วัน

อาหารที่เด็กในวัยเรียน ควรได้รับใน 1วัน

เด็กอายุ 6 - 9 ปี 

  • นมสด1แก้ว ปริมาตร 200 ซีซี 1-2 แก้ว 
  • ไข่  1 ฟอง
  • ข้าวสวย หรืออาหารแป้งอื่นๆ 3 ถ้วยตวง (6ทัพพี) 
  • เนื้อสัตว์ สุก 5-6 ช้อนโต๊ะ
  • ผักใบเขียวและผักอืน ½ - 1 ถ้วยตวง 
  • ผลไม้(ตามฤดูกาล) มื้อละ 1 ส่วน
  • ไขมัน หรือน้ำมันพืช  1-2 ช้อนโต๊ะ

อายุ 10 - 12 ปี

  • นมสด1แก้ว ปริมาตร 200 ซีซี 1-2 แก้ว 
  • ไข่  1 ฟอง
  • ข้าวสวย หรืออาหารแป้งอื่นๆ  3-4 ถ้วยตวง (6-8ทัพพี)
  • เนื้อสัตว์ สุก 6 -7ช้อนโต๊ะ
  • ผักใบเขียวและผักอืน 1 ถ้วยตวง 
  • ผลไม้(ตามฤดูกาล) มื้อละ 1 ส่วน
  • ไขมัน หรือน้ำมันพืช  1-2 ช้อนโต๊ะ

โดยผลไม้ 1 ส่วนให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี ปริมาณเท่ากับกล้วยว้า 1 ผลเล็ก หรือเงาะ 5 ผล หรือมะละกอสุก 8 ชิ้นขนาดคํา หรือละมุดผลเล็ก หรือฝรั่งครึ่งผลขนาดกลาง 

หลักโภชนาการในเด็กวัยเรียน
1. ควรจัดอาหารหลักให้เด็กบริโภคให้ครบทั้ง 3 มื้อ และแต่ละมื้อควรมีอาหารครบทุกหมู่ ไม่ควรเว้นมื้อใดมื้อหนึง โดยเฉพาะมื้อเช้า

2. ควรจัดอาหารให้ครบถ้วนได้สัดส่วนและเพียงพอกับ ความต้องการ ของร่างกายเด็ก

3. ควรให้เด็กบริโภคอาหารตรงเวลา ไม่ควรให้เด็กรับประทานขนมจุบจิบ และควรจัดอาหารว่างให้เด็กบริโภคตอนสายและตอนบ่าย

4. ควรหลีกเลี่ยงอาหารทีไม่เหมาะกับเด็กได้แก่ อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก อาหารรสจัด น้ำอัดลม ชา กาแฟ ขนมหวานจัด ลูกอม ขนมกรุบกรอบ อาหารพวกนี้ จะทําให้เด็กอิ่ม และไม่บริโภคอาหารมื้อหลัก ทําให้เด็กได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายน้อย

5. ควรให้ความสนใจกับสภาพจิตใจของเด็กเพราะมีผลกระทบถึงการกินอาหารและภาวะโภชนาการของเด็ก

ล่าสุด นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชี้แจงว่าการตั้งคำถามถึงประเด็นโภชนาการที่ไม่เพียงพอของเด็ก เช่น การกินไข่ต้มครึ่งซีกกับข้าวคลุกน้ำปลา ผัดผักบุ้ง และ ขนมวุ้นกะทิ อาจไม่เพียงพอต่อปริมาณสารอาหารนั้น เป็นการตีความคลาดเคลื่อน เพราะไม่ได้ใช้วิจารณญาณแยกแยะ ระหว่างเรื่องที่แต่งขึ้นในหนังสือ กับเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน

เนื้อหาของบทอ่านตามเจตนาของผู้แต่ง  สอนเด็กให้เรียนรู้ว่าความสุขของชีวิตอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ ความสุขเกิดจากการคิดดี ทำดี และทำเพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข  การพิจารณาสาระสำคัญเรื่องที่อ่าน  ต้องพิจารณาเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ  ถึงจะเข้าใจ