ชายวัย 71 ติดโควิด ฉีดวัคซีน 2 เข็มตายบนเครื่องบินเพราะอะไร อ่านเลย

13 ธ.ค. 2565 | 05:34 น.

ชายวัย 71 ติดโควิด ฉีดวัคซีน 2 เข็มตายบนเครื่องบินเพราะอะไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังกลับจากแสวงบุญที่ซาอุดิอาระเบีย

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ชายไทยวัย 71 ปี เสียชีวิตบนเครื่องบินก่อนลงจอดที่สุวรรณภูมิ ตรวจพบว่าเป็นโควิด และไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

อธิบดีกรมควบคุมโรคได้กล่าวถึงกรณีที่พบชายไทยสูงอายุวัย 71 ปี ได้เสียชีวิตบนเครื่องบินระหว่างเดินทางกลับจากแสวงบุญที่ซาอุดิอาระเบียพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวจำนวน 5 คน โดยมีลำดับเรื่องราวดังนี้

 

ประวัติปัจจุบัน

  • 27 พฤศจิกายน 2565 เดินทางออกจากประเทศไทย เพื่อไปแสวงบุญที่ซาอุดิอาระเบีย

 

  • 7 ธันวาคม 2565 เริ่มมีอาการไอ หอบและเหนื่อย ได้รับการรักษาตามอาการ

 

  • 10 ธันวาคม 2565 ได้เดินทางกลับพร้อมกับครอบครัว โดยก่อนขึ้นเครื่องบิน มีอาการอ่อนแรงชัดเจน ไม่สามารถเดินได้ ต้องนั่งรถเข็นมาส่งที่หน้าประตูเครื่องบิน

 

ในระหว่างอยู่บนเครื่องบิน ผู้โดยสารที่นั่งข้างๆ พบว่าชายคนดังกล่าวมีอาการอ่อนแรงอย่างมากจนคอพับ

ได้แจ้งลูกเรือมาทำการตรวจ ไม่พบสัญญาณชีพ ได้ช่วยฟื้นคืนชีพ(CPR) ได้ใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED) โดยลูกเรือร่วมกับผู้โดยสารที่เป็นพยาบาล แต่ไม่สำเร็จ

 

เมื่อเครื่องลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ถือว่าเข้าเกณฑ์โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรค MERS เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างในโพรงจมูก เพื่อส่งตรวจหาไวรัสก่อโรค (ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 6) และ ตรวจหาไวรัสก่อโรคโควิด-19 (ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7)ด้วย

 

ผลการตรวจไม่พบไวรัสก่อโรค MERS แต่พบไวรัสก่อโรคโควิด-19  ขณะนี้ได้ส่งร่างไปชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจนต่อไป

 

ชายวัย 71 ติดโควิด ฉีดวัคซีน 2 เข็มตายบนเครื่องบินเพราะอะไร

ประวัติในอดีต

 

ผู้เสียชีวิตได้รับการฉีดวัคซีนโควิดเพียงสองเข็ม แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม

 

ก่อนเดินทางไป ได้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น
มีโรคประจำตัวคือหอบหืด ไม่มีประวัติแพ้ยา

 

จึงกล่าวได้ว่า ผู้เสียชีวิตจัดเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 คือ อายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคประจำตัวหอบหืดซึ่งเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ

 

นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยง เนื่องจากฉีดวัคซีนเพียงสองเข็ม ไม่ได้ฉีดกระตุ้นเข็มสาม ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรับมือกับไวรัสโอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในปัจจุบัน

คำแนะนำ

 

ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608  ควรรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกราย โดยถ้าฉีดวัคซีนมานานกว่าสี่เดือนแล้ว ให้พิจารณาฉีดได้

 

ในกรณีจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนเดินทางไปอย่างน้อย 14 วัน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันที่สูงพอ

 

ตลอดระยะเวลาเดินทาง และใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ ควรใส่หน้ากากอนามัยเท่าที่สามารถทำได้ ล้างมือบ่อยบ่อย เว้นระยะห่างทางสังคม

 

ก็จะช่วยลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตในผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง 608 ได้มากพอสมควร