รู้จัก ภาวะสมองขาดออกซิเจน เกิดจากอะไร-ป้องกันได้หรือไม่

08 ต.ค. 2565 | 11:12 น.

รู้จัก ภาวะสมองขาดออกซิเจนเกิดจากอะไร-ป้องกันได้หรือไม่ ภัยใกล้ตัวที่ต้องไม่มองข้าม รู้ตัวทันป้องกันชีวิตได้ 

ข่าวการเสียชีวิตกะทันหันของอดีตนักแสดงสาว ผิง พิมพาภรณ์ ลีนุตพงษ์ ขณะหลับอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อดีตนักแสดงสาวจากไป ซึ่งสาเหตุของสมองขาดออกซิเจนเกิดจากอะไร และสามารถป้องกันได้หรือไม่ ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า  ภาวะสมองขาดออกซิเจน (Cerebral Hypoxia) คือ อาการที่สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการอาจส่งผลให้มีอาการหายใจสั้นและถี่ ความจำเสื่อมชั่วคราว ชัก หรืออาจหมดสติได้

โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น โรคหอบ สำลักควัน โดนบีบรัดบริเวณคอ หรือจมน้ำ สำลักอาหาร, โรคหืดชนิดรุนแรง, ระบบหายใจล้มเหลว, โรคทางระบบประสาทบางโรค เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (ALS -Amyotrophic lateral sclerosis) โรคจากการขึ้นที่สูง, ถูกฆาตกรรม, การฆ่าตัวตาย เป็นต้น ทั้งนี้ อาการสมองขาดออกซิเจนถือเป็นภาวะอันตราย เพราะอาจสร้างความเสียหายต่อสมองจนถึงขั้นสมองตายและทำให้เสียชีวิตได้

 

 

หรือแม้แต่โรคต่างๆเช่น

  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นจากโรคหัวใจเอง หรือจากโรคต่างๆ ที่รุนแรง
  • ภาวะชักแบบต่อเนื่องทั้งตัวหมดสติเป็นเวลานาน 
  • ภาวะพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ 
  • ภาวะช็อกจากความดันโลหิตต่ำมากเป็นระยะเวลานาน
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นระยะเวลานาน 
  • ภาวะสมองขาดเลือดมาเลี้ยงทั้งสมอง 
  • ภาวะได้รับสารพิษเกินขนาด ทำให้ร่างกายหยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น เช่น ควัน พิษ, การได้รับยาเกินขนาด

อาการของผู้ที่มีภาวะสมองขาดออกซิเจนจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและระยะเวลาที่สมองขาดออกซิเจน เช่น รู้สึกสับสนมึนงง มีเหงื่อออกมาก การตัดสินใจแย่ลง เคลื่อนไหวลำบาก ขาดสมาธิ ความจำเสื่อมชั่วคราว เป็นต้น แต่หากสมองขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
  • หายใจเร็ว หายใจติดขัด หรือหายใจมีเสียงหวีด
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ดวงตาไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง
  • ชัก
  • หมดสติ
  • หยุดหายใจ หรือถึงขั้นสมองตายและเสียชีวิต
  • การรักษา สมองขาดออกซิเจน

ส่วนการรักษาภาวะสมองขาดออกซิเจนเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบให้การรักษาอย่างรวดเร็ว โดยการให้ออกซิเจนผ่านทางท่อช่วยหายใจ และเครื่องช่วยหายใจในระยะแรก ให้ยาเพิ่มความดันโลหิตถ้ามีความดันโลหิตต่ำ ต้องกู้ชีพให้สัญญาณชีพปกติให้เร็วที่สุด เมื่อสัญญาณชีพต่างๆ ปกติแล้ว ก็จะเป็นการค่อยๆ หยุดการใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากการใช้เครื่องช่วยหายใจ เช่น ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ รวมถึงการฟื้นฟูสภาพร่างกายและสมองด้วยกายภาพบำบัด และการทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดแนะนำ ซึ่งเป็นการรักษาภายในโรงพยาบาล ระยะเวลาในการรักษาขึ้นกับสาเหตุและอาการผิดปกติของสมองว่ามากน้อยเพียงใด ร่วมกับการฟื้นตัวของผู้ป่วยว่าดีแค่ไหน

อย่างไรก็ตามภาวะสมองขาดออกซิเจน สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ทำให้ขาดอากาศหายใจ รวมถึงการดูแลรักษาโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน เช่น ความดันโลหิตต่ำ ติดเชื้อรุนแรง น้ำตาลในเลือดต่ำ หากมีปัญหาการหยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ควรต้องได้รับการกู้ชีพอย่างถูกวิธีและรวดเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน ซึ่งจะทำให้เซลล์สมองตายหรือขาดเลือดและเสียชีวิตในที่สุด

ข้อมูลอ้างอิง: โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น