โรคฮิสโตพลาสโมซิสคืออะไร อาการยังไง น่ากลัวแค่ไหน เช็คเลย

05 ต.ค. 2565 | 01:53 น.

โรคฮิสโตพลาสโมซิสคืออะไร อาการยังไง น่ากลัวแค่ไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลัเงกิดเหตุคณะเดินเข้าไปในโพรงต้นไม้ใหญ่ในป่าติดเชื้อ 7 ใน 10 ราย

โรคฮิสโตพลาสโมซิสคืออะไร กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่เกิดเหตุมีคณะเดินเข้าไปในโพรงต้นไม้ใหญ่ในป่า เพื่อชมค้างคาวในเวลาเพียง 2-15 นาที พบ 7 ใน 10 คน ป่วยโรคฮิสโตพลาสโมซิส  

 

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) เป็นโรคที่เกิดจากการหายใจสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) จากมูลค้างคาวหรือนก เข้าปอด และบางคนอาจกระจายไปอวัยวะต่างๆเช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูก ต่อมหมวกไต สมอง เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย

 

ผู้ป่วยหญิงอายุ 45 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ไปเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช เดินเข้าโพรงต้นไม้ใหญ่อยู่ห่างคลองวังหีบประมาณ 200 เมตร เพื่อไปดูค้างคาว ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย อยู่ในโพรงต้นไม้ประมาณ 3 นาที 

หลังจากนั้น 15 วันเริ่มไอแห้งๆ บางครั้งไอมีเสมหะสีขาว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เดินขึ้นบันไดเหนื่อย เบื่อหาร 

 

น้ำหนักลด 2 กิโลกรัม ไม่มีไข้ ไม่ปวดหัว ไม่ปวดกระดูก ไปหาแพทย์วันที่ 5 ก.ย. 2565 เอกซเรย์ปอดผิดปกติ มีก้อนเล็กๆกระจายทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง 

 

ทำคอมพิวเตอร์สแกนปอด และช่องท้อง พบก้อนเล็กๆในปอดกระจายทั่วปอดทั้งสองข้าง 

 

โรคฮิสโตพลาสโมซิสคืออะไร

ก้อนในปอดด้านล่างขนาดใหญ่ถึง 1 เซนติเมตร พบก้อนในต่อมหมวกไตข้างซ้ายขนาด 0.5 x 1.1 เซนติเมตร และม้ามโตเล็กน้อย 

 

ได้ทำผ่าตัด ตัดชิ้นเนื้อจากปอดด้านซ้าย ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา พบว่ามีเนื้อเยื่อตายและการอักเสบแบบแกรนูโลมา (necrotizing granulomatous inflammation) ไม่พบวัณโรค 

 

ย้อมสีพบเชื้อราลักษณะเป็นยีสต์ เพาะเชื้อราขึ้น Histoplasma capsulatum มีลักษณะเป็นราสาย Histoplasma อยู่ในกลุ่มรา 2 รูป (Dimorphic) อยู่ในเนื้อเยื่อมีรูปเป็นยีสต์ อยู่ในธรรมชาติมีรูปเป็นเส้นใยราสาย

สรุป: ผู้ป่วยเป็น "โรคฮิสโตพลาสโมซิส" จากการหายใจสปอร์ Histoplasma capsulatum หลังจากเข้าไปในโพรงต้นไม้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2565 ทำให้เกิดปอดอักเสบ กระจายไปที่ต่อมหมวกไตและม้าม

 

วันที่ 19 ก.ย. 2565 

 

เนื่องจากอาการไม่หนักมาก จึงเริ่มยาฆ่าเชื้อราชนิดกิน ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) 200 มิลลิกรัม เช้า เย็น หลังกินยา 2 สัปดาห์ อาการและเอกซเรย์ปอดดีขึ้นช้าๆ และจะให้ยารักษาต่อประมาณ 12 เดือน

 

คนที่จะเข้าถ้ำหรือโพรงต้นไม้ต้องใส่หน้ากากอนามัยแบบแพทย์ใส่ในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันหายใจสปอร์ของเชื้อราเข้าปอด

 

ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า 

 

โรคฮิสโตพลาสโมซิส จะก่ออาการได้ในระยะเวลาประมาณ 3วัน ถึงประมาณ 3 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค) บางคนอาจมีอาการได้ภายใน 4-7 วัน

 

ในคนทั่วไปที่ได้รับเชื้อ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ที่เป็นอาการไม่เฉพาะ ไม่รุนแรงที่มักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องมีการรักษา อาการดังกล่าว เช่น อ่อนเพลีย, อาจมีไข้ , และมีอาการไอ


แต่ในคนที่มีอาการมาก มักเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยง หรือคนที่ได้รับเชื้อจากการสูดหายใจเอาเชื้อเข้าไปในปริมาณมาก (เช่น คนงานทุบตึก รื้อถอนบ้าน รื้อถอนเล้าสัตว์ ) โดยอาการมักเกิดจากการติดเชื้อนี้ที่ปอด และที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องอกก่อน ต่อไปจึงลุกลามแพร่กระจายเป็นการติดเชื้ออวัยวะต่างๆได้ทั่วตัว                                                                                                     

อาการจากการติดเชื้อครั้งแรกเฉียบพลันที่ปอดและที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องอก(ปอดอักเสบเฉียบพลันจากฮิสโตพลาสโมซิส: Acute pulmonary histoplasmosis): ในระยะแรกจะก่อให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง และมี “โรค/ภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน” โรคในระยะนี้อาจมีอาการอยู่ได้นาน 2-3 สัปดาห์

 

อาการ(ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) เช่น

  • ไข้สูงเฉียบพลัน
  • เหงื่อออกมาก
  • หนาวสั่น
  • ไอมากมักไม่มีเสมหะ(แต่มีเสมหะก็ได้) อาจมีไอเป็นเลือด
  • เจ็บหน้าอก
  • อาจหายใจลำบาก
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดข้อ
  • เอกซเรย์ปอด พบมีปอดอักเสบ อาจมีต่อมน้ำเหลืองในช่องอกโต/อักเสบ และอาจมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดได้
  • การตรวจร่างกาย นอกจากพบมีอาการทางปอดแล้ว
  • อาจคลำพบ ตับ ม้ามได้จากมีตับ ม้ามโต
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้าโต
  • และ/หรืออาจมีผื่นแดงขึ้นที่ผิวหนัง

แต่ถ้าโรค/อาการไม่ดีขึ้นใน 4 สัปดาห์ โรคมักลุกลามก้าวหน้า(Progress)ไปเป็น “โรค/ภาวะปอดอักเสบเรื้อรังจากฮิสโตพลาสโมซิส: Chronic pulmonary histoplasmosis” ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองในช่องอกอักเสบเรื้อรัง โต และเป็นพังผืด ซึ่งอาการที่พบได้คือ อาการเรื้อรังต่างๆ เช่น

  • ไข้
  • ไอ
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • อาจมีใบหน้า และแขนบวม จากต่อมน้ำเหลืองช่องอกกดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องอก ที่เรียกอาการนี้ว่า Superior vena cava obstruction/syndrome: SVC obstruction/syndrome
  • เหงื่ออกกมาก ที่มักเป็นเหงื่อออกช่วงกลางคืน

 

เมื่อเอกซเรย์ปอด จะพบว่า เนื้อปอดเกิดเป็นพังผืด และมีโพรงค่อนข้างกลม (Cavity)จุดเดียวหรือกระจายหลายจุด ร่วมกับมีก้อนเนื้อ กระจายได้ทั่วปอดร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองช่องอกโต และมีหินปูนเข้าไปจับที่เนื้อเยื่อปอดที่อักเสบและที่ต่อมน้ำเหลืองช่องอกได้

 

ซึ่งเมื่อโรคเข้าสู่ระยะนี้ เนื้อเยื่อปอดจะเสียหายตลอดไป ไม่ฟื้นตัวกลับเป็นปกติ และถึงแม้จะรักษาควบคุมโรคได้ เชื้อโรคก็ยังคงฝังตัวอยู่ในปอด และก่อการติดเชื้อใหม่เป็นระยะๆเมื่อภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลง

 

ถ้ารักษาควบคุมโรคระยะปอดอักเสบเฉียบพลัน หรือ ระยะปอดอักเสบเรื้อรังไม่ได้ โรคจะลุกลามแพร่กระจายทางกระแสโลหิต ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้กับทุกอวัยวะทั่วร่างกาย ที่เรียกว่า “ฮิสโตพลาสโมซิสระยะแพร่กระจาย(Disseminated histoplasmosis)” ซึ่งจะมีอาการต่างๆได้แตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นกับว่า เป็นการติดเชื้ออวัยวะอะไรบ้าง เช่น

  • สมองอักเสบ
  • ช่องปากอักเสบเป็นแผล
  • ลูกตาอักเสบ (Uveitis)
  • กระดูกอักเสบ
  • เยื่อบุหัวใจอักเสบ
  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • ตับอักเสบ
  • ไตอักเสบ
  • ต่อมหมวกไตอักเสบ
  • และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วย “กลุ่มเสี่ยง”