วิธีป้องกัน “น้ำกัดเท้า” โรคติดเชื้อที่มาช่วงน้ำท่วม

03 ต.ค. 2565 | 06:02 น.

น้ำท่วมหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ โรค“น้ำกัดเท้า” เป็นโรคติดเชื้อที่มาช่วงน้ำท่วม ที่ไม่ควรละเลย มาดูวิธีป้องกันโรคน้ำกัดเท้าต้องทำอย่างไร

โรคติดเชื้อที่พบบ่อยช่วง "หน้าฝน" โดยเฉพาะในสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในหลายด้าน สำหรับคนที่ต้องลุยน้ำหรือย่ำน้ำสกปรกซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ มักเกิดโรคผิวหนังที่เรียกว่า “โรคน้ำกัดเท้า”

 

ซึ่งอาจเป็นโรคที่หลายคนละเลย แต่รู้หรือไม่? หากเป็นแล้วจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และต้องใช้เวลารักษานานกว่าจะหาย ใครเดินลุยน้ำขังรอระบายบ่อยๆ ต้องระวัง และฟังทางนี้

โรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มักพบในคนที่ต้องลุยน้ำและแช่น้ำเป็นเวลานาน บริเวณเท้าจึงมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการเท้าเปื่อย ลอก คัน และแสบ และอาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามมาได้

 

อาการของโรคน้ำกัดเท้า

ระยะแรก ผิวหนังบริเวณเท้าจะมีลักษณะเปื่อย แดง ลอกเนื่องจากการระคายเคือง โดยยังไม่มีการติดเชื้อ แต่หากมีอาการคันและเกาจนเกิดแผลถลอกก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

ระยะที่สอง ผิวหนังเปื่อยและลอกเป็นแผล ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง ร้อน เป็นหนอง และปวด ส่วนการติดเชื้อราชนิด dermatophyte จะทำให้มีอาการคัน ผิวเป็นขุยและลอกออกเป็นแผ่นสีขาว และอาจมีกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะตามซอกเท้า หากปล่อยไว้นานอาการอาจเป็นเรื้อรังและรักษาหายยาก แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็อาจกลับมามีอาการใหม่ได้ถ้าเท้าเปียกชื้นอีก

วิธีป้องกันโรคน้ำกัดเท้า 

  1. หลีกเลี่ยงความชื้น ไม่ใส่รองเท้าและถุงเท้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน ควรซักถุงเท้าให้สะอาดและตากให้แห้งก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง
  2. เมื่อต้องลุยน้ำ สวมรองเท้าบูททุกครั้งที่ลุยน้ำ ถ้าระดับน้ำสูงเกินกว่าขอบรองเท้าให้ใช้ถุงดำครอบแล้วใช้หนังยางรัดไว้ หากน้ำเข้ารองเท้าให้หมั่นเทน้ำออกเป็นระยะๆ
  3. หลังจากลุยน้ำให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ เช็ดให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า และใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณเท้าและซอกเท้าเพื่อให้เท้าแห้งสนิท
  4. หากมีบาดแผลบริเวณเท้า เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน และหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสัมผัสกับน้ำสกปรกที่ท่วมขัง
  5. ไม่ใช้ข้าวของส่วนตัวปนกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า แม้แต่รองเท้าแตะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคนี้อยู่ เพราะสามารถติดต่อกันได้
  6. การเกาตามบริเวณร่างกาย โดยใช้นิ้วมือหรือเล็บที่ไปเกาแผลที่มีเชื้อรามาก่อน อาจทำให้บริเวณใหม่ที่ไปเกาได้เชื้อเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งตำแหน่ง ดังนั้นจึงควรล้างมือบ่อยๆ และลดการเกาตามร่างกายฃ
  7.  หากบริเวณเท้ามีแผลอยู่แล้ว และจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ กรณีนี้หลังจากลุยน้ำมาแล้วนอกจากการทำตาม ข้อ4  แล้ว  สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือให้แช่เท้าในน้ำที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ  ทิ้งไว้สักครู่ จึงค่อยอาบน้ำและถูสบู่บริเวณที่เป็นแผลดังกล่าวด้วย จากนั้นเช็ดเท้าและบริเวณแผลให้แห้งดี แล้วจึงทายาที่แผลตามปกติ

 

ข้อมูล : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล