เปิดสถิติ คนไทยอายุยืนขึ้นแค่ไหน เมื่อเทียบกับ 30 ปีที่ผ่านมา

09 ก.พ. 2566 | 06:36 น.

เปิดข้อมูลสภาพัฒน์ “คนไทยอายุยืนขึ้น" เมื่อเทียบกับช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่น่าตกใจส่วนใหญ่กลับตายก่อนวัยอันควร ไปดูสถิติต่าง ๆ ที่น่าสนใจพร้อมข้อเสนอแนะ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเสนอรายงานแผนการพัฒนาประชากร เพื่อการพัฒนาประเทศไทยระยะยาว ช่วงปี 2565 – 2580 พบข้อมูลน่าสนใจ และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แม้ตัวเลขจะชี้ชัดว่า คนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดกลับมีสถิติการตายก่อนวัยอันควรอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน

คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้นจาก 30 ปีก่อน

คนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 30 ปีก่อน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 65.6 ปี สำหรับเพศชาย และ 70.9 ปี สำหรับเพศหญิง โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2561 อายุเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรไทย แยกเป็นดังนี้

  • เพศชาย อยู่ที่ 72.2 ปี
  • เพศหญิง อยู่ที่ 78.9 ปี

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาอายุเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี พบว่า เพศชายมีค่าประมาณ 68 ปี ส่วนเพศหญิงมีค่าประมาณ 74 ปี ขณะที่ความสูญเสียปีสุขภาวะ เพศชายมีความสูญเสียมากกว่า เพศหญิงถึงประมาณ 1.4 เท่า

หากพิจารณาความสูญเสียปีสุขภาวะจากการตายก่อนวัยอันควรของคนไทย พบว่า แต่ละช่วงวัยมีสาเหตุสำคัญของการสูญเสียปีสุขภาวะของคนไทย ดังนี้

 

สาเหตุสำคัญของการสูญเสียปีสุขภาวะ ที่มาของข้อมูลจาก สศช.

สาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สถานการณ์การเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2563 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประสบเหตุจมน้ำมากถึง 692 ราย 

นอกจากนี้ จากรายงานปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาระโรคของประชากรไทยปี 2557 พบว่า ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เพศชาย : การดื่มสุรา และสูบบุหรี่

เพศหญิง : การมีน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน และภาวะความดันโลหิตสูง

พฤติกรรมทางสุขภาพที่เสี่ยงเหล่านี้ ยังทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ หัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เบาหวาน ด้วย

โรคอันตรายกับคนไทย

สาเหตุการตายที่สำคัญของประชากรกว่า 75% หรือ ประมาณ 320,000 คนต่อปี มาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบด้วย กลุ่มโรคสำคัญ 5 โรค ซึ่งได้คร่าชีวิตประชากรไทยประมาณ 75,000 คนต่อปี ได้แก่ 

  • โรคมะเร็ง
  • โรคหลอดเลือดสมอง 
  • โรคหัวใจขาดเลือด 
  • โรคเบาหวาน 
  • โรคความดันโลหิตสูง 

 

ภาพประกอบข่าว อัตราการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ ของคนไทย

 

นอกจากนี้ การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการตายที่เกิดจากโรคติดต่อ โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อจากการป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับโรคเอดส์เท่ากับ 22.49 ต่อประชากรแสนคน หรือประมาณ 14,731 ราย เพิ่มขึ้นจาก 12,863 ราย ในปี 2559 

โดยความชุกของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยเสี่ยง 4 เรื่อง คือ การใช้ยาสูบ การไม่ออก กำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพด้วย

อุบัติเหตุทางถนน-สุขภาพจิต

การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน โดยตั้งแต่ปี 2559 - 2562 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทางถนนที่อัตรา 23.8 – 30.2 ต่อประชากรแสนคน

ขณะที่ผลการสำรวจสุขภาพจิต เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรมของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำปี 2561 พบว่า ประชากร 15.8% มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป รวมถึงเมื่อพิจารณาจากอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ พบว่า เพิ่มขึ้นจาก 6.35 รายต่อประชากรแสนคน ในปี 2559 เป็น 6.64 รายต่อประชากรแสนคน ในปี 2562

แนะช่องทางลดการสูญเสีย

เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์สถานะสุขภาพของคนไทย ข้างต้น พบว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่างในการลดการสูญเสีย ประชากรไทยก่อนวัยอันควร โดยต้องมีการพัฒนามาตรการ ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การกำหนดส่วนผสมน้ำตาลและเกลือในเครื่องดื่มและอาหาร

การกำหนดอัตราภาษียาสูบให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ ยาสูบที่จะช่วยส่งผลให้เกิดการลดพฤติกรรมการบริโภค การบังคับใช้กฎหมายด้านการจำหน่ายที่ผิดกฎหมายอย่าง เอาจริงเอาจัง รวมทั้งการมีมาตรการจูงใจใหม่ ๆ ในการปรับ วิถีการดำเนินชีวิตด้วย