ชี้ช่อง ‘สมุนไพรไทย’ บุกตลาดจีน ชูนวัตกรรม-อีคอมเมิร์ซ เจาะสูงวัย

05 ก.พ. 2566 | 08:02 น.

จับตา “สมุนไพรไทย” บุกตลาดจีน กูรูแนะสร้างแบรนด์เจาะเฉพาะกลุ่ม ชี้ช่อง “ผู้สูงวัย” จ่อทะลุ 300 ล้านคนสูงกว่าไทย 4 เท่า พร้อมนำนวัตกรรมสร้างความต่าง ขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ย้ำตลาดจีนหลังโควิดไม่เหมือนเดิมต้องคิดใหม่ ทำใหม่

ในปี 2565 การส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรและสารสกัดจากสมุนไพรมีมูลค่ารวมกว่า 972 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 17.7% จากปี 2564 ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 822 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรส่งออกไปยังประเทศจีนเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นมูลค่า 229 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น 83 ล้านบาท และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 21 ล้านบาท

ขณะที่สารสกัดจากสมุนไพร ส่งออกไปยังเมียนมาร์เป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 152 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน 47 ล้านบาท เติบโตขึ้น 57% อย่างไรก็ดีหลังการเปิดประเทศของจีน ทำให้โอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายการส่งออกไปตลาดจีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ตลาดจีนหลังโควิดก็มีการเปลี่ยนแปลงมากมายซึ่งเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค

ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการไทยมักมองว่าประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ด้วยประชากรกว่า 1,400 ล้านคน แต่ตลาดจีนมีความซับซ้อน มีการแข่งขันเข้มข้น ดังนั้นต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพตลาดว่าใครคือคู่แข่งขันทั้งในทางตรงและทางอ้อม

ชี้ช่อง ‘สมุนไพรไทย’ บุกตลาดจีน ชูนวัตกรรม-อีคอมเมิร์ซ เจาะสูงวัย

สำหรับคนที่อยากส่งออกไปจีนสิ่งที่สำคัญคือการสร้างแบรนด์ สร้างจุดขาย และมองกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งชื่นชอบสมุนไพร และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านคน มากกว่าไทย 4 เท่า นอกจากนี้คนจีนในยุคหลังยังใส่ใจกับ 4 ปัจจัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องของความเป็นธรรมชาติ, สุขอนามัย, ความปลอดภัย และความสะดวก

ส่วนมิติเชิงลบคือ คนจีนมองว่าหน้าตาสินค้าไทยไม่สวยงาม ไม่น่าใช้ หาซื้อยากไม่สะดวก เพราะสินค้าไทยส่วนใหญ่รอนักท่องเที่ยวเข้าซื้อเมื่อมาเมืองไทยหรือส่วนใหญ่อยู่ในโลกออฟไลน์เมื่อนำเข้าไปขายในจีน แต่โลกออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ควรเข้าไปเพราะมีตำแหน่งทางการตลาดใหม่ๆ ที่เป็นโอกาสให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

“สมุนไพรเช่นอาหารที่มีกลิ่นรสของสมุนไพรหรือการนวด ธุรกิจเหล่านี้เติบโตอย่างมากในเมืองจีน ดังนั้นเป็นโอกาสของการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทยผ่านสมุนไพรต่างๆเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาสินค้าดีมีนวัตกรรม ก็จะเปิดโอกาสในการขยายการส่งออกด้วย แต่ต้องระวังและคัดกรองคู่ค้าเพื่อไม่ให้เจอพาร์ทเนอร์ที่จะสร้างปัญหาในอนาคต”

ด้านนาย Wu Hua Chun ผู้บริหารบริษัท สวัสดี กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ตลาดจีนปัจจุบันไม่ไช่ตลาดจีนเดิมๆ ที่เคยได้ยินกันมา การเข้าสู่ตลาดของจีนต้องมีแนวคิดใหม่ๆไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถชนะในตลาดในจีนได้ จากประสบการณ์ด้านอีคอมเมิร์ซในหลายปีและการเป็นผู้บริหารของ alibaba.com ซึ่งเป็นธุรกิจ B2B ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าสินค้า 5 หมวดที่ขายดีและได้รับความนิยมจากจีน ได้แก่ 1. เครื่องสำอาง 2. ของใช้ในห้องนอน 3. อาหารและเครื่องดื่ม 4. ของใช้ส่วนบุคคล, สปา อโรม่า และ 5. สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ

ทั้งนี้สินค้าหลายชนิดในไทยที่ขยายตลาดไปจีนมีปัญหาและความท้าทายมากพอสมควร โดยเฉพาะสมุนไพรซึ่งจะเข้าข่ายเป็นยา สิ่งที่ยากที่สุดคือการขออนุญาต เพราะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับยามีข้อกำหนดค่อนข้างมาก มีเอกสารจำนวนมาก ใช้เวลา และเงินทุนมาก อย่างไรก็ตามยังพอมีเทคนิคที่ผู้ประกอบการไทยสามารถทำให้สมุนไพรเข้าสู่ตลาดจีนได้ เช่น เครื่องสำอางหากเพิ่มสมุนไพรไทยเข้าไปก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านั้นๆ ได้

แต่ที่สำคัญคือจะต้องจดทะเบียนเป็นเครื่องสำอางไม่ใช่ยาสมุนไพร ไม่เช่นนั้นจะถูกตีความว่าเป็น “ยา” หรือจดแจ้งเป็นอาหารเสริม หรือจดแจ้งเป็นเครื่องมือแพทย์ ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้สมุนไพรไทยเข้าทำตลาดจีนได้อย่างเต็มที่

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,859 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566