รู้จัก”ขมิ้น” สมุนไพร Product Champion โอกาสทองเกษตรกรไทย

15 พ.ย. 2565 | 03:43 น.

รู้จัก”ขมิ้น” สมุนไพร Product Champion โอกาสทองเกษตรกรไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารของไทย ชี้ตลาดอินเดีย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ นำเข้าสูงสุด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสทางการค้าสินค้าขมิ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง (Product Champion) สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทั้งวัตถุดิบสมุนไพร เครื่องเทศ สารสกัด น้ำมันหอมระเหย อีกทั้งสามารถเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงร่างกาย และเครื่องสำอาง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาดูแลรักษาสุขภาพ และสนใจผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้สมุนไพรเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

 

รู้จัก”ขมิ้น” สมุนไพร Product Champion โอกาสทองเกษตรกรไทย

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสมุนไพรได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ สะท้อนให้เห็นจากมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล Euromonitor International ระบุว่า ในปี 2564 การค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก (Retail Value RSP) มีมูลค่ารวม 53,868 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตลาดไทยอยู่อันดับที่ 8 ของโลก (รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และไต้หวัน) โดยการค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดไทย มีมูลค่า 1,425.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2565 จะมีมูลค่า 1,543.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ 8.31%

รู้จัก”ขมิ้น” สมุนไพร Product Champion โอกาสทองเกษตรกรไทย

ทั้งนี้สถานการณ์การค้าขมิ้นของโลก โดยในปี 2564 การค้าขมิ้นของโลกมีมูลค่า 366.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศผู้ส่งออก 3 อันดับแรก ได้แก่  อินเดีย เนเธอร์แลนด์ เวียดนาม โดยไทยเป็นผู้ส่งออกขมิ้น อันดับที่ 15 ของโลก  มีมูลค่าการส่งออก 2.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนประมาณ 0.8%  ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของโลก ตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ อินเดีย มีสัดส่วน66.1% ของมูลค่าการส่งออกขมิ้นทั้งหมดของไทย รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา 19.3%  และเนเธอร์แลนด์  6.4%

รู้จัก”ขมิ้น” สมุนไพร Product Champion โอกาสทองเกษตรกรไทย

 สำหรับการนำเข้า ไทยนำเข้าขมิ้นเป็นมูลค่า 1.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าจากเมียนมา  65.2% ของมูลค่าการนำเข้าขมิ้นทั้งหมดของไทย รองลงมา คือ อินเดีย  29.9%  และอินโดนีเซีย 2.8% ซึ่งการศึกษาโอกาสทางการค้าสินค้าสมุนไพรไทย จะช่วยให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารของไทย

ทั้งนี้ สนค. ได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าสินค้าสมุนไพร แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเพาะปลูก เมื่อพิจารณาปริมาณการส่งออกและนำเข้าขมิ้นของไทย พบว่า ปี 2564 ไทยส่งออก 1,280.77 ตัน และนำเข้า 2,007.97 ตัน จะเห็นว่าไทยมีความต้องการนำเข้าขมิ้นจากต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสให้เกษตรกรไทยปลูกขมิ้นเป็นพืชทางเลือกในการสร้างรายได้ และสามารถทดแทนการนำเข้า รวมทั้งภาครัฐต้องส่งเสริมการปลูกให้ได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐานสินค้าเกษตร

รู้จัก”ขมิ้น” สมุนไพร Product Champion โอกาสทองเกษตรกรไทย

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร ส่งเสริมให้เพาะปลูกในจังหวัดที่ดินมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกขมิ้น (เช่น อาทิ สระแก้ว กำแพงเพชร และอุดรธานี) ตามระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-map) ส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มในลักษณะแปลงใหญ่ และส่งเสริมการปลูกให้ได้ราคาดี เช่น ขมิ้นสายพันธุ์ที่มีสารเคอร์คูมินอยด์สูง ขมิ้นอินทรีย์ ตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ

ด้านการแปรรูป และการสร้างมูลค่าเพิ่ม สนค. พบว่าราคาส่งออกขมิ้นของไทยมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2564 มีราคาส่งออกเฉลี่ยต่อหน่วยอยู่ที่ 2,244 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เทียบกับราคาส่งออกเฉลี่ย 5,806 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และ 4,062 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในปี 2556 และ 2560

 ดังนั้น ไทยควรศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าจากประเทศที่มีราคาส่งออกเฉลี่ยต่อหน่วยสูง อย่าง ญี่ปุ่น 111,313 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และ สหรัฐอเมริกา 6,373 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน  ซึ่งเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการแปรรูป และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแปรรูปสมุนไพรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมการผลิตสารสกัดที่ได้มาตรฐานเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยกับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ เพื่อทราบความต้องการจากภาคการผลิตให้ผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ผลักดันให้เกิดการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ปรับเปลี่ยนจากการส่งออกในรูปแบบวัตถุดิบเป็นสินค้ามีมูลค่าสูง รวมทั้งเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ขมิ้นหรือสมุนไพรแปรรูปอื่น ๆ กับการท่องเที่ยว เช่น ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม เป็นต้น

ด้านการตลาด เพิ่มช่องทางการตลาดเชิงรุก เชื่อมโยงเกษตรกรกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ ใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อความมั่นคงทางรายได้ของเกษตรกร สำหรับด้านการส่งออก ปัจจุบันไทยส่งออกไปอินเดีย เป็นสัดส่วนถึง 66.1%  ไทยจึงควรเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอื่น ๆ โดยตลาดที่มีราคานำเข้าเฉลี่ยต่อหน่วยสูง อาทิ นิวซีแลนด์ 7,610 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน สหรัฐอเมริกา 4,755 ดอลลลาร์สหรัฐ/ตัน  แคนาดา 3,940 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันซาอุดีอาระเบีย 3,320 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เยอรมนี  2,585 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน  และเนเธอร์แลนด์ 2,104 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันเป็นต้น นอกจากนี้ เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ต้องติดตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ขมิ้นของไทยหากได้รับการส่งเสริมที่ดี มีโอกาสในการพัฒนาและสร้างมูลค่าการค้าให้สูงขึ้นได้อีกมาก โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา ชุมชน และเกษตรกร ต้องบูรณาการการทำงานและให้ความร่วมมือกัน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ รวมถึงสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสมุนไพรของไทย และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างแข็งแกร่งต่อไป”