เคสแรกของโลก "ฝีดาษลิง" ติดที่สุนัข น่ากลัวอย่างไร อ่านเลย

13 ส.ค. 2565 | 23:11 น.

เคสแรกของโลก "ฝีดาษลิง" ติดที่สุนัข น่ากลัวอย่างไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยเกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส ติดเชื้อจากเจ้าของ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

หนีไม่พ้น !! สุนัขติดฝีดาษลิงแล้ว รายงานเคสแรกของโลกที่ฝรั่งเศส โดยติดจากเจ้าของ

 

ฝีดาษลิงเป็นโรคที่พบในลิงและสัตว์ฟันแทะในทวีปแอฟริกา ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดมายังคนเมื่อ 60 ปีเศษก่อน เป็นโรคประจำถิ่นของแอฟริกา

 

จนเมื่อหลายปีก่อน มีระบาดออกมาที่สหรัฐและยุโรป แต่ก็เป็นจำนวนไม่มากนัก และทุกรายมีประวัติเดินทางไปแอฟริกาหรือสัมผัสผู้ที่เดินทางไปแอฟริกา

 

ในปีนี้ (2565) เริ่มมีการระบาดเข้าสู่ยุโรป และลามไปสหรัฐอเมริกา จนปัจจุบันพบฝีดาษลิงมากกว่า 85 ประเทศ จำนวนกว่า 30,000 ราย

 

จนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565  องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ฝีดาษลิง เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern)

 

และสรุปว่า ฝีดาษลิงสามารถติดต่อผ่านทางการสัมผัสไวรัสโดยตรงที่ตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองของผิวหนัง  สัมผัสของเหลวในร่างกาย (Body fluid) หรือสัมผัสละอองขนาดใหญ่ (Droplets) ที่ออกมาจากระบบทางเดินหายใจ

ส่วนการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อยู่ในระหว่างศึกษาเพิ่มเติม แต่มีรายงานตรวจพบในน้ำอสุจิแล้ว

 

ที่ยังไม่สรุปว่าเกิดจากเพศสัมพันธ์โดยตรง เพราะส่วนใหญ่ที่พบเกิดจากการสัมผัสโดยตรงที่แผลหรือตุ่มที่อวัยวะเพศและบริเวณรอบทวารหนัก

 

ยังไม่เคยมีรายงานยืนยันอย่างเป็นทางการมาก่อนว่า สุนัขเป็นฝีดาษลิงโดยติดมาจากมนุษย์

 

เคสแรกของโลก "ฝีดาษลิง" ติดที่สุนัข น่ากลัวอย่างไร

 

Lancet ซึ่งเป็นวารสารการแพทย์ชื่อดังระดับโลก ฉบับตีพิมพ์วันที่ 10 สิงหาคม 2565

 

ได้รายงานเคสแรกที่สุนัขเป็นฝีดาษลิง โดยติดจากมนุษย์ซึ่งเป็นเจ้าของ

 

โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 มีผู้ชายสองคนซึ่งเป็นกลุ่มชายรักชาย (MSM) ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

โดยผู้ป่วยรายแรก เป็นชายอายุ 44 ปี เชื้อสายลาติน และมีเอชไอวีเป็นบวก
ผู้ป่วยรายที่สองเป็นชายอายุ 21 ปี ผิวขาว และเอชไอวีเป็นลบ

 

ทั้งคู่มาด้วยมีแผลที่บริเวณทวารหนัก หลังจากที่ไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น
โดยผู้ติดเชื้อรายที่หนึ่ง มีแผลที่ทวารหนัก ตามด้วยตุ่มน้ำใสปนหนองที่หน้า หู และขา

 

ส่วนผู้ติดเชื้อรายที่สอง นอกจากมีแผลที่ทวารหนักเช่นกันแล้ว ยังมีตุ่มที่ขาและแผ่นหลังด้วย

หลังจากนั้น 4 วัน เริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ  ได้รับการวินิจฉัยด้วยการตรวจ rt -PCR พบว่าเป็นบวกทั้งสองคนโดยใช้ตัวอย่างจากบริเวณผิวหนัง และลำคอ

 

ในวันที่ 12 หลังจากมีอาการ พบว่าสุนัข Greyhound อายุ 4 ขวบของผู้ป่วยรายที่หนึ่ง เริ่มมีตุ่มที่ท้องและมีแผลที่ทวารหนักด้วยเช่นกัน

 

ผลการตรวจ rt-PCR เป็นบวก และเมื่อทำการตรวจสารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ(DNA) ก็พบว่าเป็นชนิดเดียวกับเจ้าของ โดยที่ตรงกันทั้ง 19.5 กิโลเบส (19,500 เบส)

 

ความสัมพันธ์ใกล้ชิดคือ เจ้าของและสุนัขนอนอยู่ด้วยกัน และมีการระมัดระวังสุนัขของตนเองอย่างดี ไม่ให้ออกไปสัมผัสกับคนหรือสัตว์เลี้ยงอื่น

 

จึงนับเป็นเคสแรกของโลก ที่ยืนยันได้ว่า สุนัขติดฝีดาษลิงผ่านมาจากมนุษย์
ทำให้จะต้องมีการติดตามกันต่อไปว่า สุนัขที่ติดฝีดาษลิงแล้ว จะสามารถทำให้ติดกลับมายังมนุษย์อีกได้หรือไม่

 

เพราะถ้าเป็นไปได้ ก็จะเกิดความยุ่งยากมากขึ้นในการควบคุมฝีดาษลิงในมนุษย์

 

เพราะลำพังติดกันเองระหว่างมนุษย์ก็ควบคุมยากแล้ว ถ้ายังสามารถติดได้จากสัตว์เลี้ยงอีก ก็จะเป็นเรื่องที่ควบคุมยากมากยิ่งขึ้น