14 พฤษภาคม 2568 แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ พร้อมแนะวิธีดูแลตนเองให้ปลอดภัย โดยสถานการณ์โรคโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วย 71,067 ราย เสียชีวิต 19 ราย แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น พบการระบาดแบบกลุ่มก้อน จำนวน 2 เหตุการณ์
ทั้งนี้ หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ (สัปดาห์ที่ 16) พบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ในปีนี้ระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ประเทศไทยพบการระบาดของสายพันธุ์ XEC เพิ่มขึ้น
ขณะที่สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วยสะสม 328,103 ราย (อัตราป่วย 500.40 ต่อประชากรแสนคน) เสียชีวิต 33 ราย แนวโน้มผู้ป่วยลดลงแต่ยังสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง พบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 - 9 ปี และกลุ่มเด็กเล็ก 0 - 4 ปี
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในเรือนจำเพิ่มขึ้น สายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด เป็น A/H1N1 (pmd09) 42.02% รองลงมาคือ B (Victoria) (32.67%) และ A/H3N2 (25.21%) ตามลำดับ
คำแนะนำสำหรับโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบทางเดินหายใจ 1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก 2. ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพลานในช่วงที่มีการระบาด หากเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย
4. เมื่อมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ต้องสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยูใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว และไปรับการรักษาจากแพทย์ 5. หากพบว่าป่วยเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ
นอกจากนี้แนะนำ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (โดยหญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี) 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ทุกคน 3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น 4. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6. โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และ 7. ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือ ดัชนีมวลกาย (BMI > 35) ตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทุก ๆ ปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม มีบริการฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการกับ สปสช.