ชวนคนไทยใช้ "สิทธิบัตรทอง" ตรวจคัดกรอง 5 มะเร็งร้ายฟรี

06 พ.ค. 2568 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2568 | 08:22 น.

สปสช. ชวนคนไทยใช้สิทธิบัตรทอง ประจำปี 2568 ตรวจคัดกรอง 5 มะเร็งร้าย 6 รายการฟรี กลุ่มไหนควรตรวจโรคอะไร ตรวจสอบคุณสมบัติ พร้อมเงื่อนไขรายละเอียดได้ที่นี่

มะเร็ง เป็นโรคร้ายที่มีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากทั้งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มีราคาแพงมากจากภาวะของโรคที่มีความซับซ้อน การเข้ารับบริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีภาวะของโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาก่อนที่อาการโรคจะลุกลามและรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิต

รัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงต่อสุขภาพจากโรคมะเร็งร้ายนี้ ประกอบกับ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ จึงมอบ ให้ สปสช. สนับสนุนการให้บริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งมาอย่างต่อเนื่องและบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่มอบให้กับประชาชนไทยทุกคน ทุกสิทธิ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้บริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2568 นี้ สปสช. ยังคงดำเนินการจัดสรรงบประมาณจำนวน 800.19 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนบริการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อเนื่องใน 6 รายการ ซึ่งเป็นการคัดกรอง 5 โรคมะเร็งร้ายในรายการบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ บัตรทองของคนไทยทุกคน พร้อมเชิญชวนคนไทยทุกคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายบริการในแต่ละรายการเข้ารับบริการเพื่อดูแลสุขภาพตนเองได้

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ หากพบภาวะเสี่ยงหรือภาวะเจ็บป่วยในระยะเริ่มต้นจะได้เข้าสู่การรักษาก่อนโรคลุกลาม ขณะเดียวกันยังช่วยลดภาระงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลเพราะการรักษามะเร็งในระยะท้ายจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากสวนทางกับโอกาสในการรักษา ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าละเลยรีบใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการได้ตามหลักเกณฑ์และหน่วยบริการที่ สปสช. กำหนด 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ข้อมูลแต่ละรายการไว้ดังนี้ 

1. บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 

เป็นสิทธิประโยชน์บริการดูแลผู้หญิงไทยทุกสิทธิมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันครอบคลุมบริการตรวจทั้งวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) และ VIA รวมถึงวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA Test) ที่มีความแม่นยำสูงและยังได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ชุดเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV self-sampling)

โดยร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับบริการด้วย โดยปีงบประมาณ 2567 ที่มีผู้เข้ารับบริการถึง 1.54 ล้านคน ซึ่งเกินเป้าหมายตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร คิดเป็นร้อยละ 104.77 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  

ทั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผลการตรวจคัดกรองพบความเสี่ยงหรือผิดปกติได้เข้ารับการส่องกล้อง ในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ร้อยละ 30 และนำไปสู่การรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลของแต่ละคนต่อไป กรณีที่ผลการคัดกรองที่มีความผิดปกติขอให้หน่วยบริการช่วยเร่งประสานหรือส่งต่อเพื่อเข้ารับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้อง รวมถึงการตัดชิ้นเนื้อและตรวจทางพยาธิวิทยาให้ครอบคลุมครบถ้วนมากขึ้น

ในปีงบประมาณ 2568 สปสช. สนับสนุนการให้บริการอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้หญิงไทยทุกคนอายุตั้งแต่ 30 – 59 ปี หรืออายุ 15 -29 ปี กรณีที่มีความเสี่ยงสูง โดยจัดสรรงบประมาณรองรับจำนวน 447.46 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายบริการจำนวน 2,198,800 คน

2. บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงด้วยวิธี FIT Test 

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ในปี 2561 สปสช. จึงจัดสิทธิประโยชน์เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ด้วยวิธี FIT Test ที่เป็นวิธีการตรวจตามมาตรฐานทางการแพทย์

เมื่อพบความผิดปกติแพทย์จะพิจารณาทำการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ในบางรายอาจจะตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) ร่วมด้วย เป็นบริการสำหรับประชาชนอายุ 50 -70 ปี โดยปี 2567 มีผู้ได้รับบริการทั้งสิ้น 1,331,975 คน มีผลการตรวจพบความผิดปกติร้อยละ 7.63 ที่นำไปสู่การรักษา ในปีงบประมาณ 2568 สปสช. จึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 115.30 ล้านบาทเพื่อให้บริการต่อเนื่อง กำหนดเป้าหมายบริการจำนวน 1,921,600 คน 

3. บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 

เป็นสิทธิประโยชน์ที่สปสช. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เพื่อค้นหาผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและติดตามเฝ้าระวังโรค ที่ผ่านมา สปสช. ยังได้เพิ่มเติมการจัดทำแบบประเมินคัดกรองเพื่อเข้ารับบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 นี้ โดยปีงบประมาณ 2567 มีผู้เข้ารับบริการจำนวน 4,478 ราย หรือร้อยละ 56.29 อย่างไรก็ดีในปีงบประมาณ 2568 สปสช. ยังคงสนับสนุนบริการนี้อย่างต่อเนื่อง จัดสรรงบประมาณจำนวน 41.51 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายบริการจำนวน 6,870 คน

ชวนคนไทยใช้ \"สิทธิบัตรทอง\" ตรวจคัดกรอง 5 มะเร็งร้ายฟรี 4. บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก 

เป็นบริการสำหรับคนไทยทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมีสิทธิเข้ารับบริการคัดกรองฯ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาผู้ป่วยระยะแรกให้เข้าสู่กระบวนการรักษาก่อนลุกลามสู่ระยะที่ 3 และ 4 ทั้งนี้ จากการดำเนินการปีงบประมาณ 2567 มีผู้เข้ารับบริการจำนวน 10,220 คน ผลงานตรวจเนื้อเยื่อจำนวน 9,784 ราย หรือร้อยละ 95.73 และในปี 2568 ได้จัดสรรงบประมาณ 35.57 ล้านบาท เพื่อจัดบริการคัดกรองต่อเนื่อง สำหรับประชาชนไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป กำหนดเป้าหมายให้บริการจำนวน 59,278 คน

อีก 2 บริการคัดกรองโรคมะเร็งนั้นเป็นรายการใหม่ที่ได้เริ่มให้บริการในปีงบประมาณ 2568 

5. บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ 

ซึ่งเป็นการให้บริการตามแนวทางคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ สำหรับหญิงไทยทุกสิทธิที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และเข้าเกณฑ์เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยจัดสรรงบประมาณรองรับแล้วจำนวน 100.15 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายบริการ 41,730 คน 

6. บริการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับด้วยการตรวจปัสสาวะ 

โดยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT) ที่พัฒนาโดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ ตรวจพบและรักษาผู้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับได้ตั้งแต่ระยะแรก เป็นสิทธิให้บริการปีละ 1 ครั้ง อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่มีภาวะเสี่ยง คือมีประวัติการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เคยกินยาถ่ายพยาธิใบไม้ตับ และมีประวัติการกินปลาน้ำจืดสุก ๆ ดิบ โดยปีงบประมาณ 2568 สปสช. จัดสรรงบประมาณรองรับจำนวน 60.19 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายบริการ 264,000 คน

 

ชวนคนไทยใช้ \"สิทธิบัตรทอง\" ตรวจคัดกรอง 5 มะเร็งร้ายฟรี