21 เมษายน 2568 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และนายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ทแมน จำกัด และกิจการร่วมค้า RMA110 แถลงข่าวชี้แจงประเด็นการจัดทำอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม 2568 ภายหลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลถึงเนื้อหาของงานว่า
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการจัดงาน World Expo 2025 ว่า งานเอ็กซ์โปร์เป็นงานที่ไม่ได้จัดกันทุกปี ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่ดูไบ ปี 2020 ซึ่งไทยก็ได้เข้าไปร่วมด้วยครั้งนั้นประเทศไทยใช้งบประมาณไปประมาณ 1,200 ล้านบาท สำหรับครั้งนี้ครม.มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักภายใต้วงเงินงบประมาณ 800 ล้านบาทซึ่งต่ำกว่าครั้งที่แล้วเป็นไปตามระเบียบของประเทศไทย และระเบียบของประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีกฎหมายแรงงานที่เข้มงวด รวมทั้งเป็นไปตามกฎระเบียบของเมืองโอซาก้าด้วย
กรณีที่มีการกล่าวถึงเนื้อหาภายในงานว่า "ดีไซน์เอกชน คอนเทนต์ราชการ" นั้น หากดูวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เราต้องการให้คนทั้งโลกได้ดู ไม่ใช่แค่คนไทยแต่รวมคนไทยด้วยและคนไทยทุกคนเป็นเจ้าภาพร่วมกันซึ่งการให้คนทั้งโลกมาดูก็เพื่อเห็นถึงศักยภาพของไทยและสามารถขายของของไทยได้ด้วย เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจ
เรามีเป้าหมายเรื่อง Business matching และการสนับสนุนนวดไทยเพื่อให้นวดไทยสร้างรายได้หลายแสนล้านบาท จริง ๆ คนชื่นชมก็มาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่น ชาวตะวันตก แต่คนติก็มี เราน้อมรับ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข" นพ.โอภาส กล่าว
ด้านนายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และกิจการร่วมค้า RMA110 กล่าวว่า ส่วนที่มีคนอาจชอบหรือไม่ชอบการจัดแสดงนั้นเป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคน บางคนชอบบางคนไม่ชอบ เราน้อมรับและยินดีปรับปรุง และจะระดมทีมเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ เบื้องต้นจะมีการเชิญผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ นักคิดต่าง ๆ ซึ่งต้องขอบคุณมากที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องการนำเสนอคือ อยากบอกว่าระบบสาธารณสุขเราเป็นแบบนี้ ถึงทำให้เราเป็น Medical and Wellness Hub หรือศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอว่าทำไมไทยนำเสนอสมุนไพร แต่ต้องบอกว่าไทยไม่ได้มีเทคโนโลยีด้านการแพทย์เอง ไม่ได้มี CT Scan เราซื้อ แต่เรามีอินโนเวชั่นด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ดี มีระบบสาธารณสุขที่มาจากออแกนิค และเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก เราเอาของจริงไปโชว์ ทั้งเครื่องปริ้น 3D กะโหลก หุ่นยนต์ดินสอ เราหยิบไฮไลท์ของไทยกว่า 100 ชิ้นไปจัดแสดงเพื่อต้องการให้เกิดบิซิเนส แมชชิ่ง
"ในการนำเสนอเราทำเป็นภาพจอขนาดใหญ่ มีการนำเสนอแบบสัมผัสทั้ง 5 ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมได้ เมื่อเดินเข้าไปได้ทั้งจับจ้อง สัมผัสทั้งกลิ่น สปา รส อาหารไทยให้ชิม และการนวดไทย โดยเฉพาะหมอนวดจากกระทรวงสาธารณสุขได้รับความนิยมที่สุด" นายอุปถัมป์กล่าว
ถามว่าจะมีการปรับปรุงตัวนิทรรศการตามข้อเสนอแนะหรือไม่นั้น นายอุปถัมป์ กล่าวว่า ตอนแรกปรึกษาท่านรองอธิบดี สบส. และปลัดสธ. ว่ามี Comment บางส่วน จึงคิดว่า จะระดมสมองเพื่อไทยแลนด์พาวิลเลี่ยนโดยจะมีการเชิญนักคิดในระดับชั้นนำของประเทศไทยมารวมกันทำ workshop ตกผลึกความเห็นและนำไปแก้ไข ทั้งนี้ ยืนยันว่าเรายินดีรับฟังความเห็นของทุกท่านแต่เนื่องจากมีความคิดเห็นที่หลากหลายจึงต้องใช้เวลาในการรวมตัวของนักคิดและครีเอทีฟของไทยที่มีจำนวนมาก
นพ.โอภาส กล่าวเสริมว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งจะมีการจัดงานอีกหลายเดือนก็จะนำเอาข้อติติง เอาผู้รู้ ผู้มีบทบาท influencer ทั้งหลายมาช่วยกันทำงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อตอบโจทย์ของประเทศอย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขมีการประเมินผลหลัก ๆ มีอยู่ 2 เรื่อง 1.เชิงปริมาณคนเข้างาน ซึ่งขณะนี้เป็นไปตามเป้าหมาย และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ 2.เชิงคุณภาพทางทีมมีการประเมินเป็นระยะ ดังนั้น ทุกอย่างที่เราพูดมามีหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งหมด
นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ในการปรับคอนเทนต์หลักๆ ซึ่งปกติเราจะปรับทุกเดือน แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี โดยเราจะตั้งทีมขึ้นมา เรียกว่า ทีม Thailand มาช่วยระดมความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ นำมาพัฒนาการจัดงานให้ดีขึ้น สำหรับทีม Thailand ที่จะตั้งขึ้นมานี้เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งททท. กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ ทุกคนช่วยงานกันอยู่แล้ว ส่วนภาคเอกชนจะมีการเชิญเหล่านักคิดที่มีชื่อเสียงระดับประเทศเข้ามาให้ความคิดเห็น แล้วเราในฐานะผู้ดำเนินการหลักก็พร้อมที่จะปรับคอนเทนต์ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย