กรณีที่สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา โดยมีหัวข้อข่าวว่า "องค์กรแพทย์ รพ.พุทธชินราช ชี้เงินบำรุงติดลบ เหตุกองทุนสปสช.จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ต่ำกว่าจริง ทำกระทบบริการประชาชนและขวัญกำลังใจบุคลากร" โดยสรุปประเด็นของเนื้อข่าวได้ 2 ประเด็น คือ 1.เงินบำรุงลดลงเนื่องจากภาระงาน ต้นทุนสูงขึ้นหลังเพิ่มนวัตกรรมการรักษา 2.การจัดสรรงบประมาณของ สปสช. ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนนั้น
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากการสืบค้นที่มาของข่าวพบว่าอ้างอิงจาก Facebook ของ พญ.รัชริน เบญจวงศ์เสถียร ประธานองค์กรแพทย์ โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ซึ่งโพสต์ด้วยความปรารถนาดีและมีเนื้อหาเป็นกลาง
โดยระบุว่า เงินบำรุงโรงพยาบาลหากมีน้อยหรือติดลบจะมีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนโดยตรง ทั้งยังลดความและกำลังใจของบุคลากรอีกด้วย ซึ่งการเพิ่มเงินบำรุงไม่ใช่บทบาทของผู้บริหารโรงพยาบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวแต่แพทย์คือ บุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยแก้ไขสถานการณ์เงินบำรุงเป็นอย่างมาก
องค์กรแพทย์จึงต้องทำหน้าที่ร่วมกับฝ่ายบริหารในการสร้างความเข้าใจ ความตระหนักในสถานการณ์ และชี้แนะแนวทางให้กับแพทย์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและช่วยคงสถานะเงินบำรุงให้สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีคุณภาพและเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในโพสต์ของประธานองค์กรแพทย์ โรงพยาบาลพุทธชินราช ยังได้ทำโปสเตอร์มา 4 ภาพ ภาพแรกอธิบายว่า เงินบำรุงครอบคลุมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
ภาพที่ 2 อธิบายว่า สถานะเงินบำรุงมีผลกับแพทย์อย่างไร สร้างแรงจูงใจและความมั่นคงในระบบบริการอย่างไร
ภาพที่ 3 ขยายความว่า แพทย์จะมีบทบาทในการเพิ่มเงินบำรุงได้อย่างไร เช่น ตรวจผู้ป่วยให้ครบถ้วนมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลารอคอย เพื่อเพิ่มรายได้จากการเรียกเก็บค่าบริการจากส่วนกลาง หรือ coding เวชระเบียนให้ถูกต้อง กำกับการลงรหัสให้ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งจะช่วยเพิ่มเงินชดเชยค่าบริการรายหัวโดยเฉพาะผู้ป่วยนอก
"กรณีนี้ผมขอยกตัวอย่าง เช่น สปสช. จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยในแต่จะเบิกได้ครบถ้วนหรือไม่อยู่ที่คุณหมอเขียนวินิจฉัยละเอียดแค่ไหน แล้วจะมีเจ้าหน้าที่แปลงข้อมูลเป็นรหัสเพื่อส่งมาเบิกเงิน สปสช. ถ้าเขียนข้อมูลมาละเอียด เจ้าหน้าที่ก็จะแปลงข้อมูลการวินิจฉัยออกมาเป็นรหัสเบิกจ่ายได้ครบถ้วน การเบิกเงินจาก สปสช. จะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย นี่คือความหมายที่คุณหมอเขียน" ทพ.อรรถพร กล่าว
และภาพที่ 4 กล่าวถึงบทบาทของแพทย์ในการลดรายจ่ายโรงพยาบาลว่ามีอะไรบ้าง เช่น สั่งยาให้เหมาะสม ใช้ยาในบัญชียาหลัก ไม่สั่งยาซับซ้อน วางระบบการจำหน่ายผู้ป่วยที่เหมาะสม สร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาการดูแลต่อเนื่อง เป็นต้น
"เหล่านี้ คือ ข้อมูลทั้งหมดที่คุณหมอโพสต์ใน Facebook ทั้งหมดนี้ไม่มีการพูดถึงเนื้อหาตามที่ปรากฎเป็นข่าว" ทพ.อรรถพร กล่าว
ประเด็นในเนื้อหาข่าวที่พูดถึงเรื่องเงินบำรุงและการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอนั้น ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ในส่วนกลางเรียกว่าคณะกรรมการ 7x7 และในระดับเขตสุขภาพเรียกว่าคณะกรรมการ 5x5 คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้จะประชุมกันทุกเดือน เพื่อหารือถึงปัญหาอุปสรรคและวิธีการแก้ปัญหา รวมทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ การปรับกติกา เงื่อนไขการจ่าย ฯลฯ เพราะฉะนั้นปัญหาต่างๆมีเวทีสำหรับการพูดคุยทำความเข้าใจกันอยู่แล้วและที่ผ่านมาก็ทำงานด้วยความเข้าอกเข้าใจกันมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี การจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงพยาบาล อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการ ดังนั้น สปสช. จึงมีแนวคิดที่จะเปิดเผยข้อมูลการจัดสรรงบประมาณปีงบประมาณ 2568 การตกลงร่วมระหว่าง สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขมีการตกลงว่าจะจัดสรรเงินกับแต่ละโรงพยาบาลกันอย่างไร รวมถึงข้อมูลการจัดทำงบประมาณปี 2569 ที่จะถึงนี้ เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้เห็นว่าที่มาที่ไปของวิธีการจัดสรรงบประมาณเป็นอย่างไร