ไฟเขียวแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ4มิติ ยกฐานะ TCDC เป็นหัวหอกรุกงานสร้างสรรค์หนุนนวัตกรรม

08 ก.ย. 2559 | 01:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สปท.ไฟเขียว 4 แผนปฏิรูปเศรษฐกิจ"เพื่อสังคม-ชีวภาพ-ดิจิตอล-สร้างสรรค์" ปูฐานการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สู่เป้าหมายประเทศรายได้ระดับสูงตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เล็งยกฐานTCDC เป็นองค์กรมหาชน ทำหน้าที่ตรงส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ "อลงกรณ์"ชี้ วางกลไกมาก่อนแล้ว เพียงแต่นโยบายรัฐไม่ต่อเนื่อง หนุนต่อยอดใช้ได้ทันที

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามที่ประเทศไทยเสียโอกาสการยกระดับประเทศ โดยทางการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 ทุกวันนี้กลับตกหล่มความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อนับสิบปี ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ขณะทีม่ าเลเซยีประกาศวิสัยทัศน์ 2020 ก้าวสู่ประเทศรายได้ระดับสูงไปก่อนแล้ว

ในยุครัฐบาลคสช.มีความต่อเนื่องของการปฏิรูป ได้ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ขึ้นมา เพื่อถกเถียงออกแบบการเปลี่ยนแปลงประเทศทุกมิติ จนได้ข้อสรุปเป็น 37 ประเด็นปฏิรูป และ 6 วาระการพัฒนา ส่งต่อให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) มาขับเคลื่อนต่อ ในการจัดทำแผนและร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูป โดยทำงานใกล้ชิดกันของแม่น้ำ 5 สายร่วมกับหน่วยงานราชการและภาคประชาสังคม ได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาของประเทศอย่างต่อเนื่องไปได้เกินกว่าเป้าหมายแล้ว

รองประธานสปท.คนที่ 1 กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านประชามติแล้ว ยังมีบทบัญญัติขึ้นมา 1 หมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะ และบัญญัติให้ต้องตรากฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิรูป รวมทั้งให้รัฐบาลรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน ตลอดจนกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นการกำหนดเป้าหมายประเทศในระยะยาวไว้ด้วย ทำให้การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศมีทิศทางชัดเจน เพื่อไปสู่ประเทศไทย 4.0 หรือประเทศรายได้ระดับสูงภายใน 20 ปี โดยต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

"ตามเป้าหมายนี้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ด้านเศรษฐกิจ ได้สรุปรายงานการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ โดยมีอย่างน้อย 4 ด้าน(4มิติ) ที่จะเป็นการปฏิรูปเพื่อให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม และที่ประชุมสปท.ให้ความเห็นชอบเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนต่อไปแล้ว ประกอบด้วย การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสังคม การปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงชีวภาพ การปฏิรูปเศรษฐกิจดิจิตอล และการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม"

นายอลงกรณ์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจในด้านดิจิตอลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม มีความคืบหน้าไปบ้างแล้ว อาทิ สนช.ผ่านร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกระทรวง ทบวง กรม เพื่อเปลี่ยนชื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีการจัดโครงสร้างใหม่ให้สอดคล้องกับภารกิจใหม่ และกำลังจะเสนอชุดกฎหมายดิจิตอลเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป ขณะที่การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสังคม มีการออกมาตรการทางภาษี สนับสนุนให้จัดตั้งกิจการเพื่อสังคมแล้ว

ส่วนการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์นั้น ที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่จัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้และการออกแบบ อาทิ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือโอเคเอ็มดี มีศูนย์ สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) เป็นต้น หรือต่อมาในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มอบหมายให้ตนกำกับดูแลนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระทั่งมีการจัดตั้งสำนักงานขึ้นรองรับนโยบายนี้ในสำนักนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่ได้ขับเคลื่อนต่อ การมุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ครั้งนี้สามารถต่อยอดจากกลไกที่มีอยู่ขึ้นไปได้ทันที

ทั้งนี้ โดยแผนปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมที่สปท.เห็นชอบและเสนอครม.ไปแล้วนั้น มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อน โดยยกฐานะศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ(ศสบ.) หรือThailand Creative and Design Center –TCDC) ออกจากสำนักงานบริหารองค์ความรู้(องค์กรมหาชน) (OKMD) โดยตราร่างพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ปรับบทบาทและภารกิจใหม่ 4 ข้อ คือ

1.จัดทำมาตรการและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ วิจัยและพัฒนา รวมทั้งจัดทำดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่เป็นมาตรฐานอ้างอิงในระดับประเทศ 2.พัฒนาและให้บริการองค์ความรู้ผ่านการเรียนรู้สร้างสรรค์ ทั้งในเชิงกายภาพและดิจิตอล เพื่อเผยแพร่และสร้างความเข้าใจถึงคุณค่าความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ ที่เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมและนวัตกรรม เพื่อสร้างสังคมดิจิตอลที่มีคุณภาพ

3.ให้บริการด้านการพัฒนาผู้ประกอบการด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจสร้างสรรค์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ 4.ส่งเสริมความร่วมมือและประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

พร้อมกันนี้ให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความคิดสร้างสรรค์ อาทิ พัฒนาองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องแนวโน้มตลาดแรงงาน สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทุกภาคส่วน การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสม เช่น สร้างพื้นที่หรือช่องทางการจัดแสดงผลงานต่าง ๆ ทำโครงการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ปรับปรุงหน่วยบ่มเพาะ

ด้านมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้แก่ จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 พัฒนารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แบรนด์ไทย ส่งเสริมช่องทางตลาดให้นักสร้างสรรค์ ทำดัชนีชี้วัดความคิดสร้างสรรค์(Creativity Index) ทำมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนและจูงใจการลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการนวัตกรรมในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ พัฒนานวัตกรรมแบบจำลองธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนทุนให้เปล่า และพื้นที่บ่มเพาะและกระตุ้นผู้ประกอบการ ในอุทยานนวัตกรรมโยธี สนับสนุนทุนให้เปล่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การทำคูปองนวัตกรรม การแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน เป็นต้น

ส่วนในระยะยาวให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา ทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ พัฒนามาตรฐานวิชาชีพสร้างสรรค์ สำรวจและจัดเก็บสถิติอาชีพ แรงงาน ธุรกิจ ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และที่เกี่ยวข้อง พัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรมแห่งเอเชีย

ทั้งนี้ รายงานของยูเนสโก เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2558 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรมทั่วโลกในปี 2556 มีรายรับ 22.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 80 ล้านล้านบาท มีการจ้างงานถึง 29.5 ล้านคน โดยกลุ่มโทรทัศน์และทัศนศิลป์ มีสัดส่วนของรายรับสูงที่สุด เป็น 2 อันดับแรกตามลำดับ คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายรับและการจ้างงานรวม

ขณะที่มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยในปี 2557 มีมูลค่า 1.61 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 13.18 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งมีมูลค่ารวม 12.14 ล้านล้านบาท โดย อุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาที่มีมูลค่าสูง 3 อันดับแรก คือ 1.อุตสาหกรรมแฟชั่น 4.15%ของจีดีพี 2.อุตสาหกรรมการออกแบบ 3.03% และ 3.อุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียง 1.64%

ในระยะ 3 ปี (2555-2557) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาเกือบทั้งหมด ยกเว้นการแพร่ภาพกระจายเสียง(โทรทัศน์) มีมูลค่าและสัดส่วนของอุตสาหกรรมสูงขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,189 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559