‘พร้อมเพย์’นโยบายดีแต่รัฐยังไม่พร้อม

15 ก.ค. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แบงก์ชาติเสียงแข็งระบบปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีชี้ข้อดีสะดวก-ปลอดภัย ยํ้าไม่ยุ่งเกี่ยวฐานข้อมูลส่วนบุคคลกรมการปกครอง ฟากกสิกรไทยยันรับผิดชอบกรณีเงินถูกแฮ็ก ขณะที่นักกฎหมายมองนโยบายดี แต่รัฐไม่พร้อม ติงฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทยทั้งชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ซํ้าซ้อนไม่ถูกต้อง

[caption id="attachment_71051" align="aligncenter" width="700"] ความปลอดภัยของ พร้อมเพย์ ความปลอดภัยของ พร้อมเพย์[/caption]

จากกรณีการแชร์ข้อความไม่เห็นด้วย เรื่องความเสี่ยง ความปลอดภัยในระบบ “พร้อมเพย์” หรือบริการโอนเงินและรับเงินระหว่างบุคคล และภาคธุรกิจผ่านเลขประจำตัวบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ผูกกับบัญชีธนาคาร ไม่ว่าเป็นการล้วงข้อมูลส่วนบุคคล หรือเงินหายระหว่างทาง ฯลฯ เหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ หลังจากหลายธนาคารทยอยให้ประชาชนลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ซึ่งกำหนดลงทะเบียนเป็นทางการ โดยใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 1 เบอร์และหมายเลขโทรศัพท์มือถืออีกไม่เกิน 3 เบอร์ ผ่านช่องทางธนาคาร เช่น สาขาธนาคาร อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งโมบายแบงกิ้ง หรือเอทีเอ็มตามที่ธนาคารเตรียมไว้

ธปท.ยันพ.ร.บ.สง.คุมธพ.

นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่าได้มีโอกาสพบกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญถึงกรณีการลงทะเบียนบัญชี “พร้อมเพย์”ซึ่งท่านสงสัยในเรื่องของการบังคับ หากไม่มีการบังคับให้ผูกบัญชีก็ไม่ได้ติดใจอะไร หากเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้ใช้ แต่ได้แนะนำให้ประเทศไทยว่าควรมีกฎหมาย Data Privacy law หรือกฎหมายการดูแลข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อดูแลด้านข้อมูลที่ครอบคลุมในระดับประเทศ

เรื่องข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยในการเปิดเผยข้อมูลนั้น ธปท.จะมีพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน 2551(พ.ร.บ.สง.) ในมาตรา 154 ได้ควบคุมว่าผู้ใดล่วงรู้กิจการสถาบันการเงินที่ไม่พึ่งเปิดเผย จะมีบทลงโทษทั้งจำและปรับโดยบทลงโทษจะพิจารณาตามความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งการพิจารณาจะมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลเพื่อลงโทษตามความรุนแรง เพียงที่ผ่านมายังไม่พบเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้น ด้านข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่รั่วไหลแน่นอน ประกอบกับระบบธนาคารพาณิชย์เป็นระบบปิดที่เชื่อมโยงกับระบบของบริษัทไอทีเอ็มเอ็กซ์บริษัทวางระบบเอทีเอ็มพูล รวมถึงพัฒนาระบบมาจากสิงคโปร์และธนาคารพาณิชย์ใช้บริการอยู่ปัจจุบันแล้ว จึงมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ การผูกบัญชีด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน และเบอร์มือถือ เป็นเพียงเครื่องมือในการแสดงตัวตนเท่านั้น โดยการผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนไม่ได้เป็นการดึงข้อมูลมาจากกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด และแม้ว่าจะมีชื่อที่ซ้ำกันหรือที่อยู่ทับซ้อนกัน แต่เลขบัตรประจำตัว 13 หลัก ไม่สามารถซ้ำกันได้ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับเลขโทรศัพท์มือถือ เป็นการผูกเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งไม่สามารถล้วงข้อมูลหรือแฮกข้อมูลออกไปได้ เนื่องจากมีการลงทะเบียนไว้กับค่ายมือถือ ซึ่งผ่านการพิสูจน์ตัวตนมาแล้วระดับหนึ่ง ส่วนกรณีลูกค้าเดิมที่ใช้โมบายแบงกิ้งถือว่ายืนยันตัวตนแล้ว แต่ในกรณีที่นำเบอร์โทรศัพท์คนอื่นมาผูกบัญชี จะต้องมีหนังสือเซ็นยินยอมจึงจะสามารถผูกบัญชีได้ แม้ว่าจะมีการยกเลิกเบอร์โทรศัพท์แต่ก็สามารถตรวจสอบตัวตนได้

ประชาชนต้องรมัดระะวัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย ส่วนกรณีหากระบบเกิดสะดุดระหว่างทาง โดยเงินถูกตัดไปจากบัญชี แต่ไม่ถึงผู้รับ ธนาคารจะพิสูจน์ตรวจสอบ และจะมีการคืนเงินภายใน 7-15 วันตามกฎระเบียบปฏิบัติที่มีอยู่แล้ว ส่วนบัตรประชาชนที่นำมาผูกเป็นการแสดงตัวตนอย่างเดียว ไม่สามารถดูดข้อมูลอื่นๆ ออกมาด้วยส่วนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลธนาคารไม่สามารถทำได้ถ้าลูกค้าไม่ยินยอม เพราะมี พ.ร.บ.สง.กำกับอยู่ ปัจจุบันตัวเลขผู้เข้ามาลงทะเบียนพร้อมเพย์ที่ 9.7 ล้านราย แบ่งเป็นการผูกบัญชีกับบัตรประจำตัวประชาชนจำนวน 8.1 ล้านราย และเลขโทรศัพท์มือถือ 1.6 ล้านราย คาดว่าหลังประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น จำนวนการลงทะเบียนจะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้”ฐานเศรษฐกิจ”ได้สอบถามบุคคลใกล้ชิดนายบวรศักดิ์ ซึ่งปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์จากก่อนหน้าได้แชร์ข้อความไม่เห็นด้วยกับระบบพร้อมเพย์โดยระบุว่า “พร้อมเพย์ถ้าไม่ออกกฎหมายบังคับ ผมไม่มีวันยอมทำต่างประเทศทั้งยุโรปและสหรัฐฯห้ามเชื่อมโยงข้อมูลห้ามขาย ข้อมูลส่วนบุคคลโดยเจ้าตัวไม่อนุญาต”

ไม่เกี่ยวข้อมูลกรมการปกครอง

ด้านนายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน (ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานไอที)สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “พร้อมเพย์” นั้นเป็นการเปิดให้ลงทะเบียนโดยสมัครใจถ้าไม่ลงทะเบียนก็ใช้วิธีเดิมได้ไม่บังคับ

“ในความเป็นจริงปัจจุบันการเปิดบัญชีกับแบงก์ ก็ต้องแจ้งข้อมูลทั้งหมายเลขบัตรประชาชนและเบอร์มือถืออยู่แล้ว แต่การลงทะเบียนพร้อมเพย์เป็นทางเลือกให้ประชาชนว่าจะใช้บริการรับโอนเงินผ่านหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือซึ่งผูกกับบัญชีแบงก์ ส่วนข้อกังวลเรื่องการล้วงข้อมูลลูกค้านั้น ในทางปฏิบัติข้อมูลด้านการเงินจะมีกฎหมายกำกับอยู่แล้ว แม้กระทั่ง การรายงานธุรกรรมทางการเงินกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ภายใต้นโยบาย KYC ยังต้องมีกฎหมายในการนำส่ง ที่สำคัญพร้อมเพย์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับฐานข้อมูลส่วนบุคคลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด”

การที่รัฐบาลนี้มีนโยบายดิจิตัลอีโคโนมี จึงสอดคล้องกับกลยุทธ์ระบบการชำระเงินของธปท.ที่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในระบบการชำระเงินและพัฒนาการทำธุรกรรมชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะข้อดีพร้อมเพย์สะดวก ปลอดภัยหรือต้องการความมั่นใจในประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

ต่อข้อถามกรณีเงินหายระหว่างทางหรือเงินไม่เข้าบัญชีธนาคารนั้น นายอาจ วิเชียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารยุทธศาสตร์องค์กร บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าเรื่องเงินหายหรือเงินไม่เข้าบัญชีนั้นยอมรับว่ามีทุกวัน โดยธนาคารจะมีทีมประสานเป็นกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นทุกวันอยู่แล้ว เพราะในทางปฏิบัติผู้โอนอาจป้อนข้อมูลผิดหรือคลาดเคลื่อน ดังนั้น การใช้บริการพร้อมเพย์ก็เป็นการใช้ช่องทางแบบเดิม แต่ขณะนี้ทั้งระบบจะมีการโอนทางมือถือไม่ใช่เฉพาะการโอนภายในธนาคารเช่นที่ผ่านมา แต่เมื่อผู้โอนกรอกข้อมูลที่ถูกต้องระบบจะคอนเฟิร์มชื่อธนาคาร ชื่อบัญชีที่ตรงกับผู้รับ แต่หากป้อนข้อมูลคลาดเคลื่อนชื่อธนาคารหรือบัญชีจะไม่ตรงตัวเจ้าของซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมต่อ

ส่วนความรับผิดชอบนั้นทุกธนาคารจะมีเงื่อนไขในการบริการ โดยธปท.กำกับเช่นกัน หากธนาคารบกพร่องเจ้าของบัญชีไม่ต้องรับผิดชอบ หรือถ้าสมมติมีแฮกเกอร์ดึงเงินลูกค้าจากบัญชีกรณีนี้ทางธนาคารต้องรับผิดชอบยกเว้น ความเสียหายที่เกิดจากเจ้าของบัญชีเปิดเผยรหัสพร้อมชื่อบัญชีให้เพื่อนใช้ เช่น รหัสอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง

ด้านนายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อยบมจ.ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด เผยว่า การล้วงข้อมูลไม่มีใครสามารถทำได้ แม้แต่รัฐบาล กรมสรรพากร หรือหน่วยงานรัฐเพราะการจะล้วงข้อมูลหรือขอข้อมูลบัญชีธนาคาร จะต้องมีคำสั่งจากศาลเท่านั้นถึงจะมีการเปิดเผยข้อมูลบัญชีธนาคารของลูกค้ารายนั้นๆ ได้ เพราะระบบสถาบันการเงินถือเป็นระบบที่เป็นเอกเทศ เช่นเดียวกับ พร้อมเพย์ ถือเป็นระบบปิดไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ และไม่ได้ทำให้ข้อมูลรั่วไหลได้มากกว่าเดิม

นักก.ม.ชี้นโยบายดีแต่รัฐไม่พร้อม

ด้านนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไอที กล่าวว่าแนวคิดการทำเรื่องพร้อมเพย์ เป็นเรื่องที่ดี แต่ควรมีความพร้อมมากกว่านี้ โดยการนำฐานข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ไปเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลบัตรประชาชน ของกระทรวงมหาดไทย มีความเสี่ยงสูงต่อการทำธุรกรรมการเงินที่ผิดพลาด เนื่องจากฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทย ยังมีข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ที่ไม่ถูกต้อง บางคนมีชื่อ และนามสกุล ซํ้ากัน

“นโยบายนี้รัฐต้องการรวมข้อมูลการเงินของประชาชนไว้ด้วยกัน เพื่อการจดั เก็บภาษีในระยะยาว แต่รฐั ตอ้ งมีความพร้อม และมีมาตรการรองรับความเสี่ยงทั้งข้อมูลส่วนบุคคล และความปลอดภัยข้อมูล มากกว่านี้”

ส่วนในแง่ของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น โดยประเทศที่คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลสูง อย่างสหรัฐฯ และอังกฤษไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ กับบัตรประชาชน มาเชื่อมต่อกันในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายควบคุมการใช้ฐานข้อมูล โดยคำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคล และมาตรการลงโทษ ผู้ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559