ผู้นำในธุรกิจครอบครัว

03 ก.ค. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จากการสำรวจของ Deloitte EMEA Family Business Centre ที่ได้ทำการสัมภาษณ์ทายาทรุ่นใหม่ของธุรกิจครอบครัว 92 ราย จาก 19 ประเทศในยุโรป เอเชียกลางและแอฟริกา ในปี 2016 เพื่อศึกษาการเตรียมความพร้อมของทายาทรุ่นใหม่ในการเข้ารับช่วงการสืบทอดกิจการธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะในเรื่องภาวะผู้นำและการกำกับดูแลกิจการนั้น พบว่า

1) รูปแบบภาวะผู้นำ

กว่าครึ่งของผู้นำรุ่นต่อไป (52%) เชื่อว่าพวกเขามีรูปแบบภาวะผู้นำแตกต่างจากคนรุ่นอาวุโส (ภาพที่ 1) ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้นำรุ่นใหม่ไม่ควรลอกเลียนแบบผู้นำคนก่อนและพวกเขามีสิทธิที่จะพัฒนาภาวะผู้นำในแบบของตัวเองให้เหมาะกับธุรกิจเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินไปในทิศทางใหม่ได้โดยไม่สูญเสียค่านิยมของธุรกิจครอบครัว ทั้งนี้คนรุ่นอาวุโสต้องยอมรับไอเดียใหม่ๆที่คนรุ่นใหม่นำเสนอมาเพราะระดับความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นได้เปลี่ยนจากลูก-พ่อแม่ ไปเป็น ผู้ใหญ่-ผู้ใหญ่แล้ว อย่างไรก็ตามในหลายบริษัทคนรุ่นอาวุโสก็ยังคงเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวอยู่ภายหลังจากที่ผู้นำรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงกิจการแล้วและทำงานร่วมกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆหลากหลายรุ่นซึ่งล้วนมีไอเดียที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจะนำไอเดียเหล่านี้มาใช้จึงมักสร้างปัญหาและความยุ่งยากใจให้กับผู้นำคนใหม่อยู่เสมอ (ภาพที่ 1)

2) การกำกับดูแลกิจการ

การกำกับดูแลกิจการที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็นในเบื้องต้นสำหรับธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ และที่ต้องการปกป้องทรัพย์สินและถ่ายโอนความเป็นผู้นำให้กับทายาทในอนาคต เพราะการกำกับดูแลกิจการจะให้กรอบการทำงานภายในซึ่งประกอบด้วยบทบาท นโยบาย กระบวนการและการควบคุมเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจที่ถูกสร้างขึ้นและนำไปใช้ได้ สำหรับธุรกิจครอบครัวมักมาถึงจุดที่ทั้งประเพณีดั้งเดิมและประสบการณ์ไม่เพียงพอสำหรับผู้นำที่มีประสิทธิภาพ โดยการเติบโตในธุรกิจ การเปิดใจใหม่ๆเกี่ยวกับการจ้างผู้บริหารที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวและปัญหาเกี่ยวกับภาวะผู้นำล้วนจำเป็นต้องอาศัยกรอบการกำกับดูแลกิจการแบบมีโครงสร้างมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามากกว่าครึ่งของทายาทรุ่นใหม่คิดว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการกำกับกิจการที่มีอยู่ปัจจุบันเมื่อพวกเขาเข้ามารับช่วงกิจการ และมีเพียง 1ใน 4 ที่คาดว่าจะเก็บโครงสร้างการกำกับกิจการแบบเดิมไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (ภาพที่ 2)

ซึ่งเหตุผลในการเตรียมที่จะเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลกิจการก็เป็นเพราะ ต้องการเอาความรู้และประสบการณ์จากคนที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวเข้ามา เนื่องจากธุรกิจครอบครัวจำนวนมากเติบโตขึ้นทั้งด้วยกำลังของบริษัทเองและการควบรวมกิจการ การขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศและนวัตกรรม จนกลายมาเป็นองค์กรที่มีความซับซ้อนขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการแบบใหม่ แม้ว่าธุรกิจครอบครัวอาจมีโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดีอยู่แล้วแต่ทายาทรุ่นใหม่ก็มักจะเห็นถึงความจำเป็นในการเตรียมการกำกับดูแลกิจการให้มีระเบียบแบบแผนมากขึ้น

3) โครงสร้างคณะกรรมการบริษัทและคนที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว ธุรกิจครอบครัวที่ถูกสำรวจส่วนใหญ่มีขนาดเล็กถึงปานกลางซึ่งมีคณะกรรมการบริษัทไม่เกิน 5 คน สำหรับบริษัทของครอบครัวที่ขนาดใหญ่กว่านี้คณะกรรมการบริษัทส่วนใหญ่มักไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว โดยขนาดของคณะกรรมการบริษัทในธุรกิจครอบครัวนั้นอาจขึ้นอยู่กับกลุ่มต่างๆในครอบครัวที่จะเสนอมา ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาว่ามีคณะกรรมการจำนวนน้อยเกินไปจนไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จากผลการสำรวจชี้ว่ามีธุรกิจครอบครัวเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ไม่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นคณะกรรมการบริษัทและมีกว่า 60% ที่บอกว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเป็นสมาชิกในครอบครัว

ทั้งนี้อาจเป็นเหตุผลในเรื่องของการรักษาอำนาจควบคุมของครอบครัว (หรืออิทธิพล) โดยเฉพาะในเวลาที่มีการถ่ายโอนความเป็นผู้นำจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นต่อไป จึงเป็นสาเหตุหลักว่าเหตุใดคณะกรรมการบริษัทจึงมักมีสมาชิกในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ธุรกิจครอบครัวที่มีคณะกรรมการที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่บอกว่ามีการแต่งตั้งกรรมการคนแรกที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวมานานกว่า 11 ปีแล้ว(ภาพที่ 3)

โดยทั่วไปกรรมการที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวมักเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะเข้าไปทำงาน ในธุรกิจครอบครัว และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจครอบครัวที่จะเปิดรับผู้มีอิทธิพลจากภายนอกเข้ามาเพื่อช่วยรับประกันอนาคตของพวกเขา และผู้นำรุ่นใหม่มักจะตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี ผู้บริหารที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวจำนวนมากมีเครือข่ายส่วนตัวในการติดต่อที่อาจเป็นประโยชน์ต่อบริษัทและธุรกิจ แม้บางครั้งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการบริษัทและพวกเขาจำเป็นต้องพัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจกับครอบครัว อย่างไรก็ตามกรรมการที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัวที่มากด้วยประสบการณ์นั้นถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าเลยทีเดียว

ที่มา : Deloitte. 2016. Next-generation family businesses Evolution, keeping family values alive. Available: https://www2.deloitte.com/global/en/pages/strategy/articles/emea-family-business-initiative.html.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559