ผู้ประกันตน เช็กสิทธิเงินประกันสังคม 750 บาท ได้อะไรบ้าง

14 พ.ค. 2568 | 20:00 น.

ประกันสังคม ไขข้อข้องใจเงินสมทบ 750 บาทจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล ครอบคลุมสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกัน 7 กรณีมีอะไรบ้าง ที่นี่มีคำตอบ

ผู้ประกันตนหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เงินสมทบที่ส่งไปแต่ละเดือนนั้นได้สิทธิประโยชน์อะไรคืนกลับมาให้ตนเองบ้าง โดยนางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาอธิบายพร้อมไขข้อข้องใจในเรื่องนี้

ทั้งนี้ สิทธิที่ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองจากการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนในอัตรา 5% ของค่าจ้าง และในอัตรา 5% จากนายจ้าง นอกจากนี้ยังมีส่วนของรัฐบาลที่ร่วมสมทบในอัตรา 2.75% รวมทั้ง 3 ฝ่าย ผู้ประกันตนจะมีเงิน 12.75% สำหรับใช้ในการเจ็บป่วย หรือ ประสบอันตราย 7 กรณี ดังต่อไปนี้

  • ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย
  • คลอดบุตร
  • ทุพพลภาพ
  • สงเคราะห์บุตร
  • ชราภาพ
  • ว่างงาน
  • เสียชีวิต

โดยคำนวณเพดานค่าจ้างสูงสุดสำหรับคำนวณเงินสมทบไว้ที่อัตราเดือนละ 15,000 บาท

ดังนั้น ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไปจะชำระเงินสมทบ 5% จากเพดานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท หรือเดือนละ 750 บาท นายจ้างจะสมทบด้วย 750 บาท และรัฐบาลจะสมทบอีก 412.50 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 3 ฝ่าย 1,912.50 บาท 

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้นำไปจัดสรรสำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์แต่ละกรณี ดังนี้

1. เงินสมทบ จำนวน 675 บาท หรือ 4.5% 

  • นำไปใช้ในกรณีเจ็บป่วย ซึ่งครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล ทันตกรรม และเงินทดแทนการขาดรายได้ที่ต้องหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ ค่าคลอดบุตร รวมถึงค่าทำศพ และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เงินชดการตายและเงินสงเคราะห์ทายาท

2. เงินสมทบ จำนวน 1,050 บาท หรือ 7%

  • นำไปเป็นเงินกรณีชราภาพ และสงเคราะห์บุตร โดยเป็นเงินของกรมบัญชีกลางที่เบิกจ่ายซากาผู้มีบุตรเกิน 900 บาท และกรณีสงเคราะห์บุตร 150 บาท

3. เงินสมทบ จำนวน 187.50 บาท หรือ 1.25%

  • นำไปใช้สำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน

สำหรับผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างไม่ถึง 15,000 บาท จะชำระในอัตรา 5% ของค่าจ้างจริง เช่น ค่าจ้าง 10,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบในอัตรา 500 บาทต่อเดือน เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่ใช่ผู้ประกันตนทุกคนต้องชำระเงินสมทบ 750 บาท/เดือน

ผู้ประกันตนไม่เคยใช้สิทธิการรักษาพยาบาลและไม่มีครอบครัว: 

ผู้ประกันตนกลุ่มนี้จึงอาจรู้สึกว่า ไม่คุ้มกับเงินสมทบที่นำส่งนั้น ประกันสังคมชี้แจงข้อมูลว่า ถึงแม้ผู้ประกันตนไม่ได้เจ็บป่วย ไม่ได้ใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลแต่กองทุนประกันสังคมได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในลักษณะเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่ทำสัญญาเป็นประจำทุกเดือนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันกับผู้ประกันตนที่อาจจะเจ็บป่วยในเวลาฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องกังวลสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ในกรณีผู้ประกันตนที่ไม่เคยใช้สิทธิใด ๆ เลยก็จะถือว่า ได้ช่วยผู้ประกันตนรายอื่นที่เจ็บป่วยฉุกเฉินในขณะนั้นเช่นกัน

นอกจากนี้การมีประกันสังคมยังเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับผู้ประกันตนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น หากว่างงานก็จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ หากเจ็บป่วยก็ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลและเงินทดแทนการขาดรายได้ รวมถึงการมีเงินบำนาญชราภาพไว้ใช้หลังเกษียณอายุ หรือเพื่อช่วยบรรเทาภาระของครอบครัวผู้ประกันตนกรณีเสียชีวิต