กทม.นำร่อง 3 เขต รณรงค์ 'ไม่เทรวม' จัดรถแยกถังขยะ

04 ก.ย. 2565 | 07:42 น.

กทม.รณรงค์ "ไม่เทรวม" จัดรถแยกถังขยะเศษอาหาร-ขยะทั่วไป วิ่งรับ 3 เขตนำร่อง ก่อนประเมินและขยายผลทั่วพื้นที่ 'เปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สิน'

4 ก.ย.2565 -  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาคีเครือข่าย และสำนักงานเขต ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "ไม่เทรวม" โดยมีนางสาวแอนนา เสืองามเอี่ยม Miss Universe Thailand 2022 ร่วมกิจกรรม ณ บริเวณศูนย์อาหาร สวนลุมพินี เขตปทุมวัน 

กทม.นำร่อง 3 เขต รณรงค์ 'ไม่เทรวม' จัดรถแยกถังขยะ

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การแยกขยะเป็นเรื่องที่ประชาชนพูดมานานแล้ว พอแยกขยะแล้ว ขยะจะมีคุณค่าขึ้นมาทันที การแยกขยะเปียกที่มีการเน่าเหม็นออกจากขยะทั่วไปที่แห้ง ก็จะสามารถนำมารีไซเคิลและใช้งานใหม่ได้สะดวกขึ้น  

 

แต่ที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากแยกขยะแล้วสุดท้ายกทม.ก็เอามารวมที่รถ ทำให้ประชาชนหมดหวัง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเริ่มเป็นกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้นน้ำคือประชาชนแยกขยะ กลางน้ำ คือ กทม.จัดเก็บขยะแบบแยกด้วย และปลายน้ำมีการจัดการจัดการขยะที่แยกมาอย่างเป็นระบบ

กทม.นำร่อง 3 เขต รณรงค์ 'ไม่เทรวม' จัดรถแยกถังขยะ
 

“ชวนคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สิน”

ที่ผ่านมาเรามีการจัดการขยะ เป็นหมื่นล้านบาทและเสียเงินไปกับการศึกษากว่าสี่พันล้านบาทต่อปี เราใช้เงินไปกับเรื่องขยะมหาศาล วันนี้ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพย์สินให้ได้ วันนี้ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป คือการทำแบบจำลองก่อน เลือกมา 3 เขต ปทุมวัน พญาไท หนองแขม ซึ่งมีทั้งพื้นที่กลางเมือง ใกล้เมือง และไกลเมือง มีรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งชุมชน ตลาดสด และออฟฟิศ คอนโดฯ ต้องทำแบบจำลองให้เรียบร้อยก่อนว่ารูปแบบที่ทำได้ผลดีหรือไม่ อย่างรถขยะเองก็มีปัญหาเหมือนกัน 

 

เช่น อุปกรณ์เกะกะ คนแยกขยะไม่สะดวก เชื่อว่าหากแยกขยะเปียกมาแล้วการแยกขยะจะง่ายขึ้นและเร็วขึ้น เป็น Prototype (ต้นแบบ) ที่ต้องพัฒนาให้สมบูรณ์แบบ และหากมั่นใจใน 3 เขต จะสามารถขยายผลได้เลย หากสำเร็จเร็วก็จะขยายผลต่อไป 


“ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องเอาจริงเอาจัง เพราะขยะจะส่งผลทั้งปัญหาก๊าซเรือนกระจก สภาพแวดล้อม มีผลต่อต้นทุนการจัดเก็บ และความยั่งยืนของเมือง ถ้าแยกขยะแล้วค่าใช้จ่ายลดลงเราก็จะสามารถนำเงินงบประมาณตรงนี้ไปช่วยเหลือเด็ก หรือผู้สูงอายุได้อีก ตอนนี้การเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพย์สินทั้งโลกเค้าทำกันมาแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะเหมาะเท่าเวลานี้แล้ว ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เริ่มจริงจังทั้งเอกชน รัฐและประชาชน ไม่ได้ทำแค่เอาหน้าในวันนี้ แค่จัดอีเว้นท์ ต้องตามดูความก้าวหน้าทุกอาทิตย์และลงไปแก้ปัญหาอย่างจริงจัง” 

กทม.นำร่อง 3 เขต รณรงค์ 'ไม่เทรวม' จัดรถแยกถังขยะ
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า เรื่องขยะยังมีแนวคิดอื่นอีกมากมาย เช่น ถุงขยะดำที่วางกองอยู่ริมถนนรอรถขยะมาเก็บ ซึ่งมีสุนัข หนูมากัด พอฝนตกน้ำก็ชะขยะมาที่ท่อระบายน้ำ กำลังคิดเป็นตะแกรงพับเป็นที่ล้อมขยะมีฝาปิดแบบประเทศญี่ปุ่น ให้เอาขยะมาวางในตะแกรงที่พับเก็บได้ มีฝาปิด ซึ่งจะทดสอบต่อไป ในส่วนของพนักงานกวาดขยะปัจจุบันต้องกวาดใส่ถุงดำ 

 

บางเขตมีถังที่หิ้วไปได้ด้วยเลยก็ถือว่าดี เพราะประชาชนสามารถทิ้งลงไปได้ ซึ่งก็ต้องปรับปรุง ต้องลงรายละเอียด และเข้าใจชีวิตของเจ้าหน้าที่คนที่ดูแลพวกเราด้วย ติดอุปกรณ์ ติดอาวุธให้เขาเพื่อให้เขาทำงานได้อย่างสะดวก เป็นภาพรวมที่เราจะเอาจริงเอาจังแน่นอน ขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วม รับรองว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการขยะให้ดีขึ้นได้ 

กทม.นำร่อง 3 เขต รณรงค์ 'ไม่เทรวม' จัดรถแยกถังขยะ
ทั้งนี้ "ไม่เทรวม" เป็นโครงการรณรงค์แยก "ขยะเศษอาหาร" ออกจาก "ขยะทั่วไป" ซึ่งเป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการสร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร เพื่อลดปัญหาขยะปลายทางผ่านการแยกขยะและลดการเกิดขยะต้นทาง โดยในวันนี้มีการเปิดตัวรถขยะแบบใหม่ที่มีพื้นที่จัดเก็บเศษอาหาร 2 ประเภท 

ได้แก่ รถอัดท้ายที่ต่อเติมส่วนจัดเก็บขยะเศษอาหาร และรถขยะเปิดข้างเพื่อจัดเก็บขยะเศษอหาร เพื่อแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ช่วยลดปัญหาน้ำชะขยะ กลิ่นขยะระหว่างการเก็บรวบรวมและการกำจัด และใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ซึ่งจะออกวิ่งรับขยะที่ไม่เทรวม ในพื้นที่นำร่อง 3 เขต ได้แก่  เขตปทุมวัน เขตพญาไท และ เขตหนองแขม


โครงการไม่เทรวมแบ่งออกเป็น 3 ระยะเพื่อติดตามประเมินและปรับปรุงแก้ไข โดยระยะที่ 1 (ก.ย.-ต.ค. 65) ช่วงนำร่อง กำหนด 1 เขต 1 เส้นทาง จากนั้นระยะที่ 2 (พ.ย.ธ.ค. 2565) จะขยายเป็นเก็บทุกเส้นทางในระดับแขวง และระยะที่ 3 (ม.ค.- มี.ค.66) จะขยายทั่วทั้งพื้นที่ 3 เขตนำร่อง 3 ขยายผลเต็มพื้นที่เขต การเก็บขยะแยกประเภท แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ใช้รถก็บขนมูลฝอยแบบเปิดข้าง ขนาด 1.5 ตัน จำนวนเขตละ 1 คัน จัดเก็บขยะเศษอาหาร คนละเวลากับการเก็บขยะทั่วไปปกติ และตัดแปลงรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 5 ตัน ติดตั้งถังรองรับขยะเศษอาหารที่ท้ายรถเพิ่มเติม 1 ถัง พร้อมถังสำรองติดตั้งบริเวณคอรถอีกจำนวน 2 ถัง สำหรับจัดเก็บขยะเศษอาหารพร้อมกับการเก็บขยะทั่วไป 

 

โดยขยะเศษอาหารที่จัดเก็บได้สำนักงานเขตรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ อ่อนนุซ (Mechanical and Biological Waste Treatment : MBT) เพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า และในปี 2566 จะเริ่ม 3 เส้นทางนำร่องและระดับแขวงในพื้นที่อีก 47 เขตที่เหลือต่อไปด้วย