ค่าตั๋วสาย‘สีเขียว’59บาทตลอดสาย โยนสภากทม.ชี้ขาดก.ย.นี้

03 ก.ย. 2565 | 00:00 น.

ค่าตั๋วสาย‘สีเขียว’59บาทตลอดสาย โยนสภากทม.ชี้ขาด ดีเดย์ จัดเก็บ กลางเดือนกันยายน หารายได้ใช้หนี้ บีทีเอส พร้อมเจรจาขอยกเว้นค่าแรกเข้า ด้านสภาผู้บริโภค ขอค่าตั๋วไม่เกิน 44 บาท

 

กรุงเทพมหานคร มีนโยบายจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายไม่เกิน 59 บาท เพื่อนำรายได้มาชำระหนี้ คืนให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ในส่วนของค่าจ้างเดินรถและค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) รวม 4 หมื่นล้านบาท หลังจากเปิดให้ประชาชนนั่งฟรีในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ามานาน

 

ชงสภากทม.ไฟเขียวค่าตั๋วสายสีเขียว

 

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าล่าสุดอยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อขอความเห็นชอบเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสารทั้งนี้ที่ผ่านมาได้เตรียมความพร้อมการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2

 

 

ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่า สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. ได้จัดทำตารางค่าโดยสารแล้วเสร็จ โดยใช้สูตร 14+2x กล่าวคือ ค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่2 จะเริ่มเก็บอัตรา 14-44 บาท เมื่อรวมกับอัตราค่าโดยสารในเส้นทางสัมปทานหลักตรงกลาง จะเก็บอัตราสูงสุดได้ไม่เกิน 59 บาท

              

 

ทั้งนี้ทาง กทม.เตรียมนัดเจรจากับ บีทีเอสซี เรื่องยกเว้นค่าแรกเข้าระบบเส้นทางหลักหรือเส้นทางให้สัมปทานที่เรียกเก็บเพิ่ม 16 บาท ได้หรือไม่ หาก ไม่ยินยอม กทม.จะใช้วิธีอุดหนุนงบประมาณในส่วนค่าแรกเข้าแทนประชาชนผู้ใช้บริการ

 

เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมด กทม.จะออกประกาศเรื่องกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า คาดว่าจะเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ส่วนที่ 2 นี้ได้ ประมาณกลางเดือน กันยายน 2565นี้

ค่าตั๋วสาย‘สีเขียว’59บาทตลอดสาย โยนสภากทม.ชี้ขาดก.ย.นี้

บีทีเอสขอดูค่าโดยสาร

              

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี กล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพ มหานคร (กทม.) เตรียมจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ทางบริษัทต้องขอดูรายละเอียดก่อนว่ากทม.จะจัดเก็บค่าโดยสารอย่างไร

 

หากเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ 15 บาท อาจจะใช้เวลาในการดำเนินการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์และประชาสัมพันธ์ได้เร็ว แต่ถ้าเก็บค่าโดยสารโดยใช้สูตรการคำนวณ 14+2X อาจจะต้องใช้เวลาดำเนินการ

              

 

“ที่ผ่านมาบริษัทเคยแจ้งกับกรุงเทพธนาคมแล้ว หากมีการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว บริษัทขอเวลาดำเนินการแก้ไขระบบซอฟต์แวร์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบทั้ง 60 สถานี ใช้เวลา 30 วัน แต่ปัจจุบันทางกทม.ยังไม่ได้มีการหารือร่วมกับบริษัทในเรื่องนี้ เพราะทราบว่าจะต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อสภากทม.พิจารณาก่อน”

              

 

ส่วนความคืบหน้าการเจรจาเปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวร่วมกับกรุงเทพธนาคมนั้น ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอกรุงเทพธนาคมจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษารายละเอียดสัญญาที่มีการลงนามมา 10 ปีแล้ว ทำให้ปัจจุบันภาครัฐมีหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ค้างชำระกับบริษัทรวม 40,000 ล้านบาท

 

แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถ/บำรุงรักษา (O&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถ วงเงิน 12,000 ล้านบาท แล้วและศาลฯนัดอ่านคำพิพากษาวันที่7กันยายนนี้

 

“14+2X ”รายได้กทม.สูญ 20 ล้าน

              

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ผ่านมาทางสภาฯ ได้จัดเวทีถึงเรื่องดังกล่าวไปแล้ว 2 ครั้ง โดยมีการเชิญกทม.ร่วมด้วย ซึ่งได้เสนอ 2 แนวทาง คือ 1.การจัดเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวด้วยสูตรการคำนวณ 14+2X เริ่มต้นที่ 14-44 บาท เมื่อรวมเส้นทางหลักที่เป็นสัมปทานของบีทีเอสแล้ว

 

 

กทม.จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 59 บาท 2.การจัดเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย และสูงสุดในช่วงไข่แดงที่เป็นสัมปทานเดิมไม่ควรเกิน 44 บาท ซึ่งทางสภาฯสนับสนุนการจัดเก็บในอัตรา 15 บาทตลอดสาย แต่ปัจจุบันยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกันกับกทม.

 

เนื่องจากสภาฯและทีมพรรคการเมืองบางส่วนมีความเห็นให้จัดเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 44 บาท ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่กทม.ไม่ได้จัดทำข้อมูลตัวเลขที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายหากมีการจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 44 บาท

              

“สาเหตุที่สภาฯเสนอให้จัดเก็บค่าโดยสาร 15 บาท เพราะไม่มีความแตกต่างกัน หากกทม.เก็บค่าโดยสารโดยใช้สูตรการคำนวณ 14+2X จะทำให้กทม.รายได้สูญหาย 20 ล้านบาท ขณะเดียวกันผู้บริโภคมองว่าการคิดค่าโดยสารทั้ง2 แนวทางมีความต่างกันมากด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องจ่ายค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้สภาฯได้เสนอให้จัดเก็บค่าโดยสาร 44 บาท ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ได้รับสัมปทาน ทำให้เห็นชัดเจนว่าค่าโดยสารของผู้บริโภคควรลดลง ไม่ควรใช้ค่าโดยสาร 59 บาท เพราะเป็นราคาที่ผู้บริโภคขึ้นไม่ได้”

              

 

ทั้งนี้ การบริการรถไฟฟ้าถือเป็นการให้บริการสาธารณะ ซึ่งไม่มีประเทศไหนที่ลงทุนโดยให้ผู้บริโภคเป็นคนชำระทั้งหมด ภาครัฐต้องสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือชำระค่าเดินรถ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้สภาฯเสนอการจัดเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 44 บาท ให้มีความใกล้เคียงกับการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ

              

 

นอกจากนี้สภาฯได้เสนอเรื่องข้อกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อกทม.ในอนาคต จำนวน 3 เรื่อง 1.กทม.ควรขอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 3/2562 ซึ่งเป็นร่างสัญญาสัมปทานจากสำนักอัยการสูงสุด 2.ขอให้ยกเลิกมติของคณะกรรมการชุดเดิมที่เรียกเก็บค่าโดยสาร 65 บาท เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อน 3.กทม.ยังไม่ได้รับโอนจากรฟม.และยังไม่ได้นำหนี้ส่วนต่อขยายที่ 2 เสนอต่อสภากทม. ซึ่งกทม.ต้องหาทางออกในเรื่องนี้ด้วย

              

 

ปัจจุบันมีค่าจ้างเดินรถ อยู่ที่ 3,930 ล้านบาทต่อปี แต่กทม.มีการจ้างเดินรถถึงปี 2585 อยู่ที่ 12,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นค่าจ้างที่สูงเกินจริงหรือไม่ โดยกทม.ควรหารือกับบีทีเอสเพื่อลดค่าจ้างเดินรถ หากเป็นไปได้จะทำอย่างไรให้สามารถแก้สัญญาจ้างปี 2572 เท่ากับสัญญาสัมปทานได้

 

 

ปัจจุบันกทม.มีหนี้หลายส่วน เช่น หนี้ส่วนต่อขยายกับรฟม. จำนวน 5.1 หมื่นล้านบาท โดยขอให้หนี้ส่วนนี้บันทึกไว้ก่อน แต่ยังไม่ต้องชำระ เพื่อไม่ให้กระทบต่อกทม. ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้า/เครื่องกล จำนวน 4 หมื่นล้านบาท ควรชำระให้แก่เอกชน เพื่อให้เอกชนถอนฟ้องคดีบางส่วนที่ยังอยู่ในศาลปกครอง หากหมดสัญญาสัมปทานแล้ว เชื่อว่าสามารถใช้อัตราค่าโดยสาร 25 บาทได้

 

ขอเจรจาหนี้       

              

 

นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กล่าวว่า หลังจากกรุงเทพธนาคมเชิญเอกชน หารือร่วมกันเกี่ยวกับภาระหนี้และการเปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวในช่วงที่ผ่านมานั้น

 

 

ปัจจุบันทางบริษัทได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับกทม.แล้ว ทราบว่าอยู่ระหว่างการปรึกษาร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดในการเปิดเผยสัญญาฯ ขณะเดียวกันบริษัทได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยใช้ระยะเวลาศึกษาราว 2 เดือน

              

“จะได้ข้อสรุปการเปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวภายในปีนี้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ในการเจรจาร่วมกัน”

              

ด้านความคืบหน้าการหารือการชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้มีการหารือกับเอกชนเพิ่มเติม เพราะคดีบางส่วนยังอยู่ในกระบวนการศาลฯ แต่เบื้องต้นมีการหารือในหลักการเกี่ยวกับการชำระหนี้ค่าใช้จ่ายในอนาคต รวมทั้งการประนอมหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทจะเจรจาคู่ขนานร่วมกัน เพราะจะต้องปรึกษากับกทม.ด้วย