“สมคิด” จี้รัฐเร่งรื้อกฎหมายล้าหลัง รับการเติบโตของโลกยุคใหม่

02 ก.ย. 2565 | 15:04 น.

“สมคิด” จี้รัฐแก้กฎหมายล้าหลัง -เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ รับการเติบโตของโลกยุคใหม่ เปรียบประเทศเหมือนเรือที่กำลังเจอมรสุม ชี้อาวุธที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยคือ โหวต และการเลือกตั้ง  

วันที่ 2 กันยายน 2565 นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ร่วมกับ กรุงเทพธุรกิจ เปิดหลักสูตร “Wealth of Wisdom : WOW#1” ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท  เอราวัณ กรุงเทพ  โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  กล่าวปาฐกถาพิเศษ 

 

นายสมคิด กล่าวถึงสถานการณ์จริงของประเทศในปัจจุบันว่า  มีสองประโยคคือ หนึ่งคือปัจจุบันไม่คิดว่าจะหนักและลึกถึงขนาดนี้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง

 

ประโยคที่สองคืออนาคต จินตนาการไม่ออก ไม่คิดจะหนักขนาดนี้ เพราะช่วงเกิดโควิดระบาดใหม่ๆ จนถึงเดี๋ยวนี้ คนรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งโควิดและสงครามยูเครน ทำให้โลกของเราเผชิญ 2 สิ่ง คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ชะลอตัว  กับเงินเฟ้อ เพราะโควิดกับยูเครน ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก  ทำให้ซัพพลายเชนทั้งหมดติดขัด ต้นทุนก็พุ่งขึ้นมาวัตถุดิบหายาก ขาดแคลน สินค้าผลิตไม่ทัน ราคาขึ้น

 

ที่ร้ายที่สุดคือ แหล่งพลังงานมีปัญหา อาหารขาดแคลน เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา ตนยังไม่เคยเจอพวกนี้เลย แต่ตอนนี้เราเจอหมด  

 

ส่วนที่ว่าอนาคตข้างหน้ามีหลายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อกำลังเกิด วันนี้ยุโรปหน้าหนาวกำลังมาพลังงานก็ไม่เพียงพอ สินค้าแพง  อเมริกายังโชคดีที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น โดยนโยบายอเมริกันกลัวเงินเฟ้อมากที่สุด เขาแตะเบรกทันทีโดยไม่สนใจว่าเศรษฐกิจจะชะลอหรือไม่ชะลอ คนจะตกงานหรือไม่ กลัวว่าเงินเฟ้อจะคุมไม่อยู่ทุกอย่างคือหายนะ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี

นายสมคิด กล่าวว่า วันก่อนมีคนในรัฐบาลบอกว่าจีดีพี  2.5 เปอร์เซ็นต์พอใจ ทั้งที่ต่ำสุดในอาเซี่ยน มีการขาดดุลคงคลังต่อเนื่อง ปีที่จีดีพีตก แน่นอนกระเป๋าขาดทันที  ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปได้หรือไม่  เครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราไม่สามารถสร้างรายได้ได้ คนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรแชร์จีดีพีไม่ถึง10 เปอร์เซ็นต์ คนเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศก็จน ทำให้ไม่มีอำนาจซื้อ  

 

ยังดีที่มีท่องเที่ยว  แต่ท่องเที่ยวเรากระจุกตัวอยู่ไม่กี่แห่ง  เช่น ภาคใต้มีสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต เป็นต้น ที่เหลือไปไม่ถึงชุมชน ชาวบ้านเป็นได้แค่กรรมกร คน 40 ล้านคน แต่รายได้อยู่ที่โรงแรม หรือบางจังหวัด ขณะที่จังหวัดเล็กๆไม่สามารถแชร์ความมั่งคั่งได้  เมื่อเป็นแบบนี้ อำนาจซื้อ แรงผลักดันยากแล้ว 

 

ปัญหาที่เห็นได้ชัดคืออะไร  ประเทศเราต้องมีการส่งออก ต้องลงทุน ขีดความสามารถการแข่งขันของเราลดทีเดียว 5 จุด ความสามารถทางเศรษฐกิจปีเดียวลดลงมา 13 จุด  ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะสู้กับเพื่อนบ้านไม่ได้ ยิ่งในยุคดิจิทัล การแข่งขันต้องเกิด อินเตอร์เน็ตต้องถูก แต่อินเตอร์เน็ตแพง ไม่มีการแข่งขัน อำนาจกระจุกตัวที่ กสทช. ถ้าอินเตอร์เน็ตถูกคนจะมีความรู้  ชาวบ้านก็จะถึงเทคโนโลยี   

 

ขณะที่สตาร์ทอัพ ถูกกำหนดไว้ที่กฎหมายกฎระเบียบเต็มไปหมด ระบบราชการตามไม่ทันเทคโนโลยี ถ้ากฎหมายไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้จะตามไม่ทัน และในอนาคตดิจิทัลจะใหญ่ไม่แพ้แบบดั่งเดิม นี่คือปัญหาใหญ่ 

“สมคิด” จี้รัฐเร่งรื้อกฎหมายล้าหลัง รับการเติบโตของโลกยุคใหม่

นอกจากนั้น ความไม่เท่าเทียม ความสามารถในการแข่งขันเริ่มลดถอย ฐานะของเราเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้แก้ได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้นักวิชาการไทยรู้หมด  เช่น ภาคเกษตร เป็นสินค้าด้อยค่าเพราะไม่มีเทคโนโลยี สินค้าพื้นๆ  ควบคุมตลาดไม่ได้ ไม่มีตลาดรองรับ

 

สิ่งเหล่านี้จะแก้ได้ ถ้าเราจะแก้ความสามารถการแข่งขัน เราแก้ได้โดยการแก้กฎหมาย การศึกษาที่คร่ำเครอะ ต้องเปลี่ยน ช่องว่างความเลื่อมล้ำที่มีเยอะเพราะเกษตรกรยากจน ขณะที่แรงงาน ค่าจ้างขึ้นมานิดๆหน่อยๆ พอเป็นแบบนี้ทำไมจะแก้ไม่ได้ 


ส่วน กระทรวงมหาดไทย  ต่อไปต้องมองว่า ธุรกิจไม่ใช่ทำแล้วขาย การเติบโตจากภายในเป็นสิ่งเดียวที่จะประคองได้ ถ้าจีนและโลกยังเป็นแบบนี้ อีก  2-3 ปีเจอแน่ ไต้หวันสงบยากมาก  สถานการณ์จะตึงเครียดและกระทบทั่วโลก

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นนักพัฒนา ต้องวางแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตช่วยเกษตรกรอย่างไร จะโปรโมทท่องเที่ยวอย่างไร จะร่วมมือกับจังหวัดใกล้เคียงพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างไร  จังหวัดใหญ่ถ้าพร้อมให้เลือกตั้ง ส่วนจังหวัดเล็กไม่พร้อมกระทรวงมหาดไทยเข้าไปดูแล


 อีกทั้งเส้นทางคมนาคมจำเป็นมาก ถ้ารถไฟเชื่อมต่อได้ทั่วถึงทุกภาค การท่องเที่ยวโตได้ทันที ปัญหาคือทำไมไม่ทำ ทำไมต้องเป็นคนไทยลงทุนถ้าเงินไม่มี ประเทศลงทุนไม่ได้หรือ ทั้งหมดอยู่ที่ต้องคิดและเอาปัญญามาดูว่า อะไรเป็นจุดอ่อน อะไรแก้ไขได้ และแก้ไขไม่ได้ 

 

“สมคิด” จี้รัฐเร่งรื้อกฎหมายล้าหลัง รับการเติบโตของโลกยุคใหม่

นายสมคิด กล่าวว่า อะไรทำให้แก้ไขไม่ได้ ทุกประเด็นที่พูดมาต้องแก้กฎหมาย  ที่ล้าสมัยต้องเปลี่ยนแปลง ต้องมีการชี้นำจากภาครัฐ จากผู้นำ ต้องมีการขับเคลื่อนแก้กฎหมายในสภา เปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัย เราซีเรียสเรื่องนี้หรือไม่  เวลาเราจะหมดลงเรื่อยๆ

 

ถ้าการเมืองยังเป็นแบบนี้ การเมืองไทยความพร้อมยังน้อยเพราะคนยังจนอยู่ แต่ต้องตระหนักว่าสถานะจริงๆของประเทศอยู่ที่ไหน เรากำลังเผชิญกับอะไร ต้องเตรียมตัวเราก่อน ถ้าโลกแย่เราต้องโตจากภายใน งบประมาณต้องจัดสรร เป็นหน้าที่ของการเมือง ปัญหาไม่ได้อยู่ข้างล่าง แต่อยู่ที่กลไกการเมือง เป็นเรื่องใหญ่มาก

 

ที่ผ่านมามาพอเป็นรัฐบาลต้องเตรียมเลือกตั้ง จะไปได้อีกสักกี่น้ำ เราตกลงมาเรื่อยๆ เรายังดีที่พื้นฐานยังมีศักยภาพ มีความหนาแน่นเพียงพอ แต่ต้องรีบเวลามีน้อย 

 

"ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงอะไรจะเกิดขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ระเบียบวิธีการบริหารจัดการประเทศนี้ ทุกอย่างยังรวมศูนย์อำนาจไม่กระจาย ไม่เน้นความรู้ ไม่เน้นเทคโนโลยี และยังมีทุจริตคอร์รัปชั่นสูงอย่างนี้ น่าเป็นห่วง  เศรษฐกิจไม่มีทางขึ้นมาเหมือนสมัยก่อน"

 

อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คำว่าคริปโตอีโคโนมี คือ เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยมีแรง คลานไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจจะเป็นอย่างนี้  รัฐบาลตอนนี้พูดคนไม่ฟัง ทำให้ขาดความเชื่อมั่น ขาดความเชื่อถือ ขาดความเชื่อใจ ไม่ดีกับทุกฝ่าย รัฐขาดพลังของการขับเคลื่อน การแก้ปัญหาเบาแรงมากไม่มีพลังเลย ต้องพยายามรวมศูนย์ใหม่ คนจึงจะสามารถมีพลังได้ พูดต้องให้คนเชื่อ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นรัฐบริหารจัดการไม่ได้ 

 

ที่เห็นชัดๆคือ การเมือง ประชาธิปไตยถ้ายังเป็นอย่างนี้ยังใช้เงินในการซื้อส.ส.อย่างนี้ ไม่รู้ว่าเงินไปมีอำนาจตรงนี้ตั้งแต่เมื่อไรและรุนแรงขึ้นมามากถึงขนาดนี้ได้อย่างไร สุดท้ายมันไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เป็นคณาธิปไตย คนไม่กี่กลุ่มสามารถใช้ประชาธิปไตยให้เกิดประโยชน์ และจะมีผู้ที่มีอำนาจอยู่ข้างในและมีนักธุรกิจ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นและทำให้ทิศทางการเมืองไทยไปสู่ทิศทางที่ไม่ใช่ในเชิงพัฒนาประเทศ 

 

ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ไม่ใช่แค่นายกฯมีหรือเปล่าไม่รู้ ตกลงใครเป็นนายกฯใครจะเป็นนายกฯกันแน่ ใครจะเป็นคนนำ ชี้ทิศทางประเทศ ใครจะเป็นคนเตรียมการ  ภายใต้ภาวการณ์อย่างนี้เหมือนเรือที่ลอยไม่รู้จะลอยไปไหน ลอยนานแล้ว มรสุมกำลังจะมาแล้วจะลอยไปไหนอย่างไร เอาให้ชัดภาวะอย่างนี้น่ากังวล

 

ถ้ามีปัญหาอึดอัด อย่าใช้กำลัง อย่าลงถนน เพราะการลงถนน ประชาธิปไตยลงถนนได้ ไม่ผิด แต่ทุกอย่างต้องนำไปสู่การแก้ไขระบบที่ไปในทางพัฒนาประเทศ  ที่มีปัญหาทุกวันนี้เพราะเราอยู่ในระบบแต่ระบบไม่สามารถแก้ปัญหาได้  

 

“อาวุธที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยคือ โหวต และการเลือกตั้ง  อย่ามองข้ามเรื่องโหวต และให้ประชาชนรู้จักสถานะที่แท้จริงของประเทศ ให้รู้อนาคตของลูกหลาน เวลาไม่มีแล้ว ต้องช่วยกันพัฒนา  เรื่องการเลือกตั้งในระบบนี้ก็ต้องมีการเลือกตั้ง  เอาคนที่เหมาะสมที่สุดมาบริหารประเทศจึงจะเปลี่ยนประเทศไทยได้”

 

ในตอนท้าย อดีตนายกรัฐมนตรี ยกคำกล่าวของนายแพทย์ ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่กล่าวว่า “ปัญญาจะช่วยสร้างคน สร้างสังคม สร้างชาติ” เพื่อสร้างแรงกระตุ้นในการร่วมมือกันพัฒนาประเทศต่อไป