กทม.รับมือ‘สูงวัย’ ชัชชาติ‘แซนด์บ็อกซ์’ เทเลเมดิซีนถึงชุมชน

24 ส.ค. 2565 | 05:16 น.

คนแก่ท่วม 1.2 ล้านคน กรุงเทพฯเข้าสู่เมืองผู้สูงวัยเต็มตัว เมืองไทยควักเงินดูแลเพิ่มพรวด ทะลุปีละ 3.4 แสนล้านบาทในปี 2590 “ชัชชาติ”เร่งเสริมแกร่งเส้นเลือดฝอย เปิด 2 แซนด์บ็อกซ์นำร่อง ปั้นศูนย์สาธารณสุขเป็นคลินิกเสมือน เชื่อมชุมชนพบหมอผ่าน “เทเลเมดิซีน”

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “คนไทย” ทำอย่างไร ให้อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี ในงานสัมมนา “Health & Wealth Forum สร้างสุขก่อนสูงวัย” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ และเครือเนชั่น ระบุว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแล้ว หลังสัดส่วนผู้สูงวัย (60ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้แตะที่ 1.2 ล้านคน คิดเป็น 21.68% ของประชากรกรุงเทพฯตามทะเบียน ทั้ง 50 เขตพื้นที่ รวม 5.508 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 อย่างชัดเจน ซึ่งขณะนั้นมีจำนวนเพียง 6 แสนกว่าคน หรือสัดส่วนประมาณ 10% ของประชากร กทม.เท่านั้น

 

 ขณะที่จำนวนประชากร กทม.มีแนวโน้มลดน้อยลง เนื่องจากคนวัยหนุ่มสาวมีโอกาสเลือกคุณภาพชีวิตที่ดีได้มากกว่า สิ่งที่น่ากังวลตามมาคือ ผู้สูงวัยเหล่านี้มีแนวโน้มอยู่เฝ้าบ้านหรือห้องแถวในเมืองตามลำพังมากขึ้น เนื่องจากลูกหลานมีแผนย้ายออกนอกเมือง หรือต้องการไปแสวงหาคุณภาพที่ดีในเมืองอื่น ๆ เช่น ไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น อาจทำให้อนาคต กทม.ไม่ต่างจาก‘เมืองคนชรา’ ขณะที่สัดส่วนคนหนุ่มสาวหรือวัยทำงานถดถอยลง ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างภาษี รวมไปถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวด้วย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรงเทพมหานคร

 “สิ่งนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของเมืองทั่วโลกเวลานี้ไม่ใช่แค่ กทม. คือจำนวนผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่สัดส่วนวัยแรงงาน กลุ่มคนเสียภาษีหลักน้อยลง การบริหารอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะดึงคนเก่ง คนรุ่นใหม่ที่มีทางเลือก ให้อยู่ต่อเพื่อขับเคลื่อนสังคม และเป็นฐานภาษีสำหรับงบประมาณด้านต่าง ๆ รวมถึงการดูแลผู้สูงวัยด้วย”

 

ข้อมูล ABCD Centre ประเมินว่า สำหรับภาคครัวเรือนจะมีค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงวัย (ติดบ้าน) ราว 1.2 แสนบาทต่อปี ส่วนค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุติดเตียง จะสูงขึ้นเป็นถึง 2.3 แสนบาทต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะยาวที่บ้านนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตาม ตรงนี้เป็นภาระหนักของเมืองในอนาคต รวมถึงอนาคตบัตรทองจะไปรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าสุขภาพของผู้สูงอายุดีหรือไม่ หลักง่าย ๆ คือ ป้องกันดีกว่ารักษา อยากให้ผู้สูงอายุติดเพื่อน มากกว่าติดบ้านหรือติดเตียง ถ้ารักษาสุขภาพดีก็ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายตรงนี้

เนื่องจากค่าใช้จ่ายของประเทศในการดูแลระยะยาวที่บ้าน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จากจำนวน 6 หมื่นล้านบาทในปี 2560 จะเพิ่มเป็น 3.4 แสนล้านบาท ในปี 2590

 

ดังนั้น เพื่อลดการติดบ้านติดเตียง จากวิสัยทัศน์สร้างกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีมากกว่า 20% ของเมืองนั้น อยู่ในมิติที่ กทม.ให้ความสำคัญสูงสุด ในการดำเนิน 9 นโยบาย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การเดินทาง ความปลอดภัย สุขภาพ พื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ ทุกด้านต้องมีมิติเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุด้วย เช่น สวนสาธารณะ-พื้นที่สีเขียว ต้องอยู่ใกล้คนเข้าถึงง่ายที่สุด จัดคลังปัญญาให้ผู้สูงอายุได้แชร์ประสบการณ์ชีวิตกับคนรุ่นใหม่สร้างคุณค่า

 

ด้านสาธารณสุขในกรุงเทพฯมีโครงสร้าง 3 ระดับ คือ ระดับตติยภูมิ คือศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางต่างๆ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทย์ ระดับทุติยภูมิ คือโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นของกทม. 11 แห่ง คิดเป็น 10% และระดับปฐมภูมิ คือศูนย์สาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชน 69 แห่ง และสาขาอีก 77 แห่ง ซึ่งเป็นระดับเส้นเลือดฝอย

 

นายชัชชาติกล่าวว่า ปัจจุบันเส้นเลือดฝอยอ่อนแอ ไม่มีใครไว้ใจ มีปัญหาก็วิ่งไปโรงพยาบาลซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ จึงไปแออัดในระบบ นโยบาย กทม. คือ ต้องทำให้เส้นเลือดฝอยเหล่านี้แข็งแรงขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีระบบเทเลเมดิซีน ให้เกิดการเชื่อมต่อกับบริการของโรงพยาบาล ผ่านศูนย์สาธารณสุข และศูนย์สุขภาพชุมชน ลงไปเชื่อมต่อกับชุมชนให้ผู้สูงอายุเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

 

ได้แก่เพิ่มจํานวน Excellent Center และยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง ผลักดันโครงการหมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูล การยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มการรักษา เพิ่มทรัพยากร ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ ขยายโครงการ Mobile Medical Unit รถสุขภาพเชิงรุก ตรวจถึงชุมชน เป็นต้น

 

นโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งเส้นเลือดฝอยดังกล่าว ขณะนี้กทม.กำลังผลักดัน 2 โมเดลสำคัญ ระดับปฐมภูมิ ที่จะเพิ่มบทบาทในการดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น ได้แก่ 1.ดุสิตโมเดล ทำงานภายใต้ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง และคลินิกชุมชนอีก 4 แห่ง ทำงานคู่กับ รพ.วชิรพยาบาล โดยมี ระบบเทเลเมดิซีนลงสู่ชุมชน มีรถพยาบาลเข้าถึงผู้สูงวัย ส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินอิเล็กทรอนิกส์ V-EMS ระบบคลินิกเสมือน ณ หน่วยปฐมภูมิ

 

2.ราชพิพัฒน์โมเดล ซึ่งจะเพิ่มระบบสนับสนุนเวชศาสตร์เขตเมือง (ระบบช่วยเหลือดูแลคนเมือง) และ ศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองราชพิพัฒน์ เพื่อการฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยประคับประคอง กทม. ส่วน รพ. บางขุนเทียน ที่เป็น รพ.เฉพาะสำหรับผู้สูงวัยขนาดใหญ่นั้น ขณะนี้ยังมีข้อจำกัดในการเดินทาง กทม.อยู่ระหว่างวางแผนพัฒนาระบบขนส่งในระยะต่อไป
 ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน ให้เด็กรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี อยู่ร่วมในคณะกรรมการชุมชน เพื่อคอยช่วยสอนเทคโนโลยีให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ออนไลน์คุยกับหมอได้จากที่บ้าน ทำระบบโลจิสติกส์ส่งยา

 

“ทั้งหมดเป็นภาพรวมของกทม.ที่เน้นเส้นเลือดฝอย และใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยให้การทำงานสามารถเข้าถึงผู้สูงวัยได้มากขึ้น”

 

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังแนะให้คนไทยเร่งวางแผนดูแลสุขภาพทางการเงินและสุขภาพที่ดี ควบคู่กันไปด้วย เพื่อรองรับวัยเกษียณตั้งแต่ช่วงวัยกลางคน เช่น การอดออม ศึกษาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนอย่างมั่นคงระยะยาว เป็นต้น

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,812  วันที่ 25-27 สิงหาคม พ.ศ.2565