โควิดวันนี้ทำไมไทยยังประกาศเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้ เพราะอะไร เช็คเลย

03 มิ.ย. 2565 | 21:11 น.

โควิดวันนี้ทำไมไทยยังประกาศเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้ เพราะอะไร เช็คเลยที่นี่ หมอเฉลิมชัยไขข้อสงสัยแม้สถานการณ์ดีขึ้นชัดเจน

โควิดวันนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประชาชน ทั้งจำนวนของผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน โดยเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริง 

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

โควิดไทยดีขึ้นชัดเจนแล้ว ทำไมประกาศโรคประจำถิ่นยังไม่ได้ ?

 

สถานการณ์โควิดของไทย ณ ปัจจุบัน (3 มิถุนายน 2565) ดีขึ้นอย่างชัดเจนในทุกมิติ เมื่อเปรียบเทียบสถิติของวันนี้ กับยอดสูงสุดหรือพีคในระลอกที่ 4 จากไวรัสโอมิครอน ประกอบด้วย

 

1.ผู้ติดเชื้อแบบ PCR

 

  • ลดลงจาก 28,379 ราย
  • เหลือ 2976 ราย

 

2.ผู้ติดเชื้อแบบ ATK 

 

  • ลดลงจาก 49,494 ราย
  • เหลือ 4,387 ราย

3.ผู้ติดเชื้อรวม

 

  • ลดลงจาก 72,478 ราย
  • เหลือ 7363 ราย

 

4.ผู้รักษาตัวอยู่ในระบบ

 

  • ลดลงจาก 259,126 เตียง
  • เหลือ 34,898 เตียง

 

5.ผู้ป่วยหนักมีอาการปอดอักเสบ

 

  • ลดลงจาก 2123 เตียง
  • เหลือ 818 เตียง

 

โควิดวันนี้ทำไมไทยยังประกาศเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้

 

6.ผู้ป่วยหนักมากใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

  • ลดลงจาก 940 เตียง
  • เหลือ 398 เตียง

 

7.ผู้เสียชีวิต

 

  • ลดลงจาก 129 ราย
  • เหลือ 32 ราย

 

แต่ทำไมยังไม่สามารถประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ได้

ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก ได้มีการกำหนดและประกาศต่อสาธารณะว่า เกณฑ์ที่จะถือว่าโควิด-19 ของไทย เป็นโรคประจำถิ่นได้นั้น ประกอบด้วย

 

1.อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ จะต้องน้อยกว่า 0.1% (โดยคิดเป็นค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์ติดต่อกันอย่างน้อยสองสัปดาห์)

 

2 อัตราครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ต้องมากกว่า 60% ทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้สูงอายุ

 

3.สถิติอื่นๆประกอบด้วย

 

จำนวนผู้ติดเชื้อ
จำนวนผู้ป่วยหนัก
อัตราการครองเตียงในระดับ 2,3

 

เมื่อสำรวจตรวจสอบสถิติต่างๆตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้วพบดังนี้

 

อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ

 

ถ้าคำนวณเฉพาะโควิดระลอกที่ 4 จากไวรัสโอมิครอนพบว่า

 

อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อแบบ PCR เท่ากับ 0.37% (ผู้เสียชีวิต 8415 ราย จากผู้ติดเชื้อ 2,237,121 ราย)

 

อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อที่รวม ATK ด้วย เท่ากับ 0.21% (ผู้เสียชีวิต 8415 ราย จากผู้ติดเชื้อ 4,004,771 ราย)

 

ถ้าพิจารณาอัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อทุกระลอก (ระลอกที่ 1-4) รวมกัน
แบบ PCR คิดเป็น 0.67% (เสียชีวิต 30,113 ราย จากผู้ติดเชื้อ 4,460,556 ราย)

 

และถ้าคิดอัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อที่รวม ATK ด้วย จะได้ 0.48% (ผู้เสียชีวิต 30,113 ราย จากผู้ติดเชื้อ 6,228,206 ราย)

 

จึงทำให้ยังไม่เข้าเกณฑ์โรคประจำถิ่นที่กำหนดไว้

 

โควิดวันนี้ทำไมไทยยังประกาศเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้

 

ส่วนในเรื่องของการฉีดวัคซีน

 

  • ขณะนี้ฉีดไปแล้ว 137.88 ล้านโดส
  • เข็มที่หนึ่ง 56.76 ล้านโดส (81.6%)
  • เข็มที่สอง 52.70 ล้านโดส (75.8%)
  • เข็มที่สาม 28.40 ล้านโดส (40.8%)

 

โดยเกณฑ์ของการเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องฉีดวัคซีนเข็มสาม ให้มากกว่า 60%  จึงยังไม่ถึงเกณฑ์เช่นกัน

 

ในประเด็นเรื่องอัตราการเสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อนั้น คงจะถึงเกณฑ์ 0.1% ได้ค่อนข้างลำบาก

 

เนื่องจากได้มีการปรับหลักเกณฑ์การรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ เป็นรายงานเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีอาการและเข้ารับการรักษา (ไม่รวมผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ)

 

นอกจากนั้นยังมีการตรวจเชิงรุกโดยเฉพาะ ATK ลดลงอย่างมีนัยสำคัญคือ ยกเลิกการตรวจของสปสช.ไปเมื่อ 15 พฤษภาคม 2565 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานลดลง

 

แม้จะได้มีการปรับเกณฑ์การรายงานผู้เสียชีวิต เมื่อ 1 พฤษภาคม 2565 ให้ลดลงมาสอดคล้องกับความเป็นจริงคือ

 

รายงานเฉพาะผู้เสียชีวิตจากโควิด (Died from COVID-19) ไม่นับรวมผู้เสียชีวิต

 

จากโรคร่วมแต่มีเชื้อโควิด (Died with COVID-19) แล้วก็ตาม

 

ก็ยังทำให้อัตราการเสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อลงมาไม่ถึง 0.1%

 

การกำหนดเกณฑ์ของโควิด-19 ที่จะเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย จึงเป็นเกณฑ์ที่ทำได้ยาก แม้สถานการณ์โควิด-19 ของเรา จะดีขึ้นในภาพรวมแล้วก็ตาม