แอปฯ "หมอชนะ" ยุติให้บริการวันนี้ 1 มิ.ย.65

31 พ.ค. 2565 | 20:00 น.

สาธารณสุข แจ้งปิดให้บริการแอปฯ "หมอชนะ/MorChana" รองรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น หน่วยงานรับผิดชอบจ่อลบข้อมูลทั้งหมดออกจากระบบ

แอปพลิเคชัน "หมอชนะ" เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 หลังจากให้บริการกับประชาชนมาจนถึงวันนี้ (1 มิถุนายน 2565) เป็นเวลากว่า 2 ปี ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข แจ้งยุติการให้บริการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อรองรับโควิด -19 เป็นโรคประจำถิ่นตามเป้าหมายที่วางไว้ 


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป จะยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน "หมอชนะ/MorChana" เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ดีขึ้น และเป็นการรองรับโรคโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น รวมทั้งมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยนั้น ไม่ได้กำหนดให้ผู้เดินทางต้องใช้แอปฯ "หมอชนะ" แล้ว ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะลบข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ "หมอชนะ" ต่อไป

 

สำหรับแอปฯ "หมอชนะ" เป็นผลงานร่วมระหว่าง กลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ Code for Public, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร์-วิเคราะห์ข้อมูลชื่อ "กลุ่มช่วยกัน" ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษาอีกจำนวนมาก

ชื่อผู้พัฒนาแอปฯ "หมอชนะ" ใน App Store คือ Electronic Government Agency (Public Organization) Thailand ส่วนบน Play Store คือ Digital Government Development Agency, ThailandTools ซึ่งก็คือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)


ที่ผ่านมา แอปฯ หมอชนะ คือ ระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชนเพื่อให้ผู้ใช้งาน สามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง และเพื่อสนับสนุนข้อมูลให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารักษาได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เสริมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ให้มีประสิทธิภาพและวัดผลได้ 

 

แจ้งปิดให้บริการแอป "หมอชนะ" 1 มิ.ย.65 เป็นต้นไป

ตลอดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แอปฯ หมอชนะ ทำหน้าที่ช่วยประเมินความเสี่ยงและช่วยจัดการด้วยการประเมินเมื่อแรกเข้าสู่ระบบเพื่อให้ผู้ลงทะเบียนได้ทราบสถานะของตนเอง ค่าสีมีการเปลี่ยนแปลงอัพเดทแบบเรียลไทม์ โดยอาศัยเทคโนโลยี GPS และบลูทูธ ทำให้ทุกครั้งที่มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่และระบบ พบว่า ผู้ใช้งานมีประวัติการเดินทางเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ "หมอชนะ" จะเตือนผู้ใช้งานให้รู้ถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปด้วยค่าสีใหม่ภายใต้การดูแลของ กรมควบคุมโรค ซึ่งระบบจะแบ่งระดับของความเสี่ยงออกเป็น 4 ระดับ คือ

 

สีเขียว : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

 

สีเหลือง : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

 

สีส้ม : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

 

สีแดง : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

 

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19  "หมอชนะ" ถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญของภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้

 

1.หมอ-พยาบาล 

แอปฯ "หมอชนะ" ช่วยให้การสอบสวนโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ หากแสดงโค้ดสี ทำให้แพทย์สามารถป้องกันตนเองได้อย่างพอเพียง ทั้งยังช่วยจัดลำดับความเร่งด่วนและวางมาตรการในการรักษาหรือส่งตรวจบุคคลผู้นั้นได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ได้ 

 

2.ประชาชน

ผู้ใช้แอปฯ "หมอชนะ" จะมีช่องทางรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อของประเทศที่ถูกต้อง ครบถ้วน และอัพเดทที่สุด ผ่านการตรวจสอบค่าสีความเสี่ยงของตนเอง นอกจากนี้แอปฯหมอชนะ ยังช่วยแสดงวิธีการปฏิบัติตนที่เหมาะสมโดยใช้ประโยชน์จาก QR Code สี กับระบบความเสี่ยงของผู้ใช้งานแต่ละคน   

 

3.ผู้ประกอบการ/ภาคธุรกิจ

ผู้ใช้ แอปฯ "หมอชนะ" ไม่ว่าจะเป็นห้างร้าน โรงงาน สถานที่หรือธุรกิจต่าง ๆ จะสามารถขอตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าหรือพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและวางมาตรการบริหารจัดดการได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้ทำการค้าหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้นกว่าเดิม