"ฝีดาษลิงในไทย" เช็ก 8 เหตุผลที่ทำให้ยังไม่ต้องวิตกกังวลที่นี่

26 พ.ค. 2565 | 22:11 น.

"ฝีดาษลิงในไทย" เช็ก 8 เหตุผลที่ทำให้ยังไม่ต้องวิตกกังวลที่นี่มีคำตอบ หลังมีการแพร่กระจายไปแล้ว 22 ประเทศนอกแอฟริกา

ฝีดาษลิงในไทย ( Monkeypox) กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก  หลังจากที่มีกระแสข่าวว่ามีการติดเชื้อที่เกาะช้าง จังหวัดตราด 

 

ซึ่งล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมายืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง 

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

8 เหตุผล ที่ทำให้พอจะเบาใจเรื่องฝีดาษลิงได้

 

ตามที่มีรายงานการระบาดของฝีดาษลิงทั่วโลก นับเฉพาะนอกทวีปแอฟริกา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 22 ประเทศ จำนวนมากกว่า 300 คนนั้น

 

มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นประเด็นพอจะทำให้เบาใจเรื่องฝีดาษลิงได้ดังนี้

 

  • การติดต่อ : ฝีดาษลิงติดต่อได้ไม่ง่ายนัก มักจะติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงต่อสัตว์นำโรค ทานเนื้อสัตว์ดิบ หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยตรง ยังไม่มีการยืนยันทางวิชาการว่าสามารถติดต่อผ่านทางอากาศได้เช่นเดียวกับ โควิด-19
     
  • ความรุนแรง : ฝีดาษลิงมีความรุนแรงน้อยกว่าฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษมาก ประมาณ 3-30 เท่าคือ มีอัตราการเสียชีวิตที่ 1-10% ในขณะที่ฝีดาษคนเสียชีวิตมากถึง 30%

 

  • การตรวจพบผู้ติดเชื้อ : สามารถ ตรวจพบได้ง่าย เพราะมีอาการที่ชัดเจนคือ จะมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองปรากฏขึ้นที่ผิวหนัง ทั้งบริเวณใบหน้าและแขนขา ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสผู้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าโควิด

 

  • ชุดตรวจหาการติดเชื้อ : ขณะนี้มีการพัฒนาชุดตรวจหาไวรัสก่อโรคฝีดาษลิงสำเร็จแล้วในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยก็มีการพัฒนาชุดตรวจไวรัสดังกล่าวสำเร็จแล้วเช่นกัน

 

ฝีดาษลิงในไทย เช็ก 8 เหตุผลที่ทำให้ยังไม่ต้องวิตกกังวล

 

  • วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรค : พบว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษคนหรือที่เรียกว่าปลูกฝี สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ด้วยในระดับอย่างน้อย 85%  นอกจากนั้นขณะนี้ก็มีวัคซีนใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ป้องกันทั้งฝีดาษคนและฝีดาษลิงแล้ว

 

อีกประการหนึ่งก็คือ ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการปลูกฝีเดิม แม้ผ่านไปหลาย 10 ปี ก็ยังอยู่ในระดับสูงมากพอที่จะป้องกันได้

 

และด้วยระยะฟักตัวของเชื้อที่นานถึง 21 วัน ทำให้ในกรณีที่ไปสัมผัสไวรัสมา ถ้าฉีดวัคซีนในช่วง 4 วันแรก ก็ยังสามารถป้องกันได้ทัน
 

  • ยารักษา : ขณะนี้มียารักษาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านไวรัสในกลุ่มของฝีดาษคนและฝีดาษลิง ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

 

  • การกลายพันธุ์ : ไวรัสก่อโรคฝีดาษลิงกลายพันธุ์ยากกว่าโควิดมาก ตลอด 60 ปีที่ผ่านมาไวรัสก่อโรคฝีดาษลิงก็ยังเป็นสายพันธุ์เดิม เนื่องจากเป็นไวรัสสารพันธุกรรมคู่หรือดีเอ็นเอ (DNA) กลายพันธุ์ยากกว่าไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิดที่เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยวหรืออาร์เอ็นเอ (RNA)

 

  • ผู้ติดเชื้อ : ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ยังไม่พบผู้ติด "ฝีดาษลิง" และได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อดูแลเรื่องฝีดาษลิง รวมทั้งมีการคัดกรองที่สนามบินแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถเบาใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ควรจะประมาท เพราะโรคติดต่อจากไวรัส ไม่ว่าจะเป็นโรคใดก็ตาม มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ที่มนุษย์พึงจะต้องระมัดระวังตัวอยู่เสมอ