ข่าวดี! พบวัคซีนป้องกัน "ฝีดาษลิง" ได้ ดีกว่าปลูกฝี 2 เท่า

25 พ.ค. 2565 | 01:18 น.

ข่าวดี พบวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงได้ ดีกว่าปลูกฝี 2 เท่า หลังระบาดไปแล้ว 17 ประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย


โรคฝีดาษลิง กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประชาชนทั่วโลก ทั้งเรื่องของสาเหตุในการเกิดโรค และวัคซีนในการป้องกัน

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ข่าวดี !! มีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงได้ เป็นของเดนมาร์ก รับรองโดย FDA สหรัฐฯ ดีกว่าปลูกฝีแบบเดิม 2 เท่า

 

หลังจากที่ทั่วโลกได้ตระหนักร่วมกันว่า ได้เกิดมีโรคติดต่อเก่า แต่มาระบาดใหม่คือ ฝีดาษลิง (Monkeypox) โดยได้ระบาดไปแล้ว 17 ประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียนั้น

 

ทราบกันดีว่า เกิดจากไวรัสในกลุ่ม

 

Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับ ฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) แต่เป็นไวรัสคนละชนิดกัน จึงถือว่าเป็นคนละโรค แต่มีอาการใกล้เคียงกัน

 

ทำให้มีการติดตามข้อมูลว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษในคน จะสามารถป้องกันฝีดาษในลิงได้หรือไม่ อย่างไร

มีคำตอบออกมาค่อนข้างชัดว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษคน สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ราว 85%

 

และจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า นอกจากวัคซีนเก่า (ACAM2000) ที่เคยใช้ได้ผลดีเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยวิธีการที่เรียกว่าปลูกฝีคือ หยดวัคซีนหรือหนองฝีลงไป แล้วสะกิด

 

พบว่ามีวัคซีนชนิดใหม่ ที่ไม่ใช่การหยดแล้วสะกิด แต่เป็นการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) ไม่ใช่การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal) ที่ผลิตสำเร็จและใช้อยู่ก่อนแล้วเป็นของบริษัทเดนมาร์ก

 

และได้รับการรับรองจากอย.สหรัฐอเมริกา(USFDA)

 

พบวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงได้จริงหรือไม่

 

เราลองมาทำความรู้จักกับวัคซีนที่เป็นความหวังในการป้องกันฝีดาษลิงกันดังนี้

 

  • วัคซีนชื่อการค้า JYNNEOS

 

  • ผลิตโดยบริษัท Bavarian Nordic A/S ของเดนมาร์ก

 

  • เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ผลิตจากไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับฝีดาษคนชื่อ MVA-BN : Modified Vaccinia Ankara-Bavarian Nordic

 

  • ขั้นตอนการผลิต เลี้ยงไวรัสในเซลล์ไข่ไก่ฟัก (CEF :  Chicken Embryo Fibroblast)
  • ฉีด 2 เข็ม เข้าชั้นใต้ผิวหนัง ห่างกัน 28 วัน

 

  • ขนาดที่ฉีด 0.5 CC

 

  • ฉีดในคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

 

  • ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ แดง เจ็บบริเวณที่ฉีด มีอาการร้อน คัน และอาจปวดเมื่อยได้

 

  • วัคซีนได้ผลดี กระตุ้นทั้งระบบน้ำเหลือง (Humoral) และระบบเซลล์ (Cellular)

 

  • ป้องกันได้ทั้งโรคฝีดาษคนและฝีดาษลิง

 

  • กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าวัคซีนแบบเดิมถึงสองเท่าคือ 152.8 GMT(PRNT) เทียบกับของเดิม 84.4  GMT

 

ที่น่าสนใจคือการปลูกฝีแบบเดิม ซึ่งทำมาหลายสิบปีแล้วนั้น พบว่าภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานนับสิบปี โดยมีค่าครึ่งอายุนานถึง 92 ปี

 

ส่วนวัคซีนใหม่นี้ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า แต่เป็นวัคซีนใหม่จึงต้องศึกษาต่อไปว่า ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานเพียงใด

 

นับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องฝีดาษลิงว่า อย่างน้อยเรามีวัคซีนอยู่ในมือมนุษยชาติ พร้อมที่จะผลิตและนำมาใช้ทันที

 

แตกต่างกับสมัยที่มีโควิดระบาด ตอนนั้นต้องรอนานนับปี จึงจะมีวัคซีนใช้ ทำให้โรคแพร่ระบาดออกไปกว้างขวางมาก

 

ประเทศไทยเราเอง ควรเร่งติดต่อและทำการสั่งซื้อวัคซีนทั้งแบบชนิดเก่าและชนิดใหม่ มาสำรองในจำนวนที่เหมาะสม สำหรับการรับมือถ้าเกิดมีการระบาดในช่วงแรก