รู้ไว้! ไม่ไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 ถูกจำกัดสิทธิสำคัญ 2 ปี อะไรบ้าง

13 พ.ค. 2565 | 18:00 น.

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 2565 ไม่ไปลงคะแนนเสียงใช้สิทธิปีนี้ ต้องถูกจำกัดสิทธิสำคัญ 2 ปี อะไรบ้าง แนะ วิธีป้องกันการเสียสิทธินั้นต้องทำอย่างไร อ่านเลย

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งในครั้งนี้มีผู้ลงสมัครที่น่าจับตามองอยู่หลายคนที่ต้องการเข้ามาทำงานเพื่อพัฒนากรุงเทพฯ สำหรับในส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกฎหมายระบุว่า ผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นไม่ใช่เหตุอันสมควร จะถูกจำกัดสิทธิสำคัญหลายประการ ดังนี้

การจำกัดสิทธิผู้ไม่แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 

  1. สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
  2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
  3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วย การลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ ให้มีกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้นับเวลาการจำกัดสิทธิครั้งหลังนี้ โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ และหากกำหนดเวลาการจำกัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใด ให้กำหนดเวลาการจำกัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง

 

คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง
  3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  4. คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ในกรณีที่มีการย้ายทะเบียนบ้านออกจากเขตเลือกตั้งหนึ่งไปยังอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เดียวกัน อันทำให้บุคคลมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกัน น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง ให้บุคคลนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี

วิธีแจ้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.2565

การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถทำได้ผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย

1.ขอรับแบบฟอร์ม ศ.ถ./ผ.ถ. 1/8 หรือทำเป็นหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ พร้อมระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ยื่นต่อนายทะเบียนท้องถิ่นที่เขตของตนด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นยื่นแทน

 

2.ขอรับแบบฟอร์ม ส.ถ./ผ.ถ. 1/8 หรือทำเป็นหนังสือชี้แจงเหตุทางไปรษณีย์ โดยถือเอาวันที่ไปรษณีย์ลงรับเป็นวันแจ้งเหตุ

 

3.แจ้งเหตุออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th หรือ www.ect.go.th หรือแอปพลิเคชั่น Smart Vote หัวข้อ "การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์"

 

เหตุจำเป็นที่สามารถแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

ประชาชนที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และต้องการแจ้งเหตุที่ไม่สามารถทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้นั้น จะต้องมีเหตุผลในการแจ้งเหตุต่อ กกต. ดังนี้

 

1.มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกล

 

2.เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

 

3.เป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

 

4.เป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ

 

5.พักอาศัยอยู่ห่างไกลจากหน่วยเลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร

 

6.ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง

 

7.เหตุผลอื่น ๆ ที่คณะกรรมการท้องถิ่นกำหนด