พลังแห่ง “คังคุไบ” ว่าด้วยเรื่อง Sex Worker ชวนดูโมเดลกฎหมายแต่ละประเทศ

12 พ.ค. 2565 | 05:40 น.

พลังแห่ง “คังคุไบ” Gangubai Kathiawadi ที่กำลังขึ้นเทรนด์ ใน Netflix ว่าด้วยเรื่อง Sex Worker ชวนดูโมเดลกฎหมายแต่ละประเทศ

กำลังขึ้นเทรนด์ ใน Netflix ประเทศไทย สำหรับภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi คังคุไบ และขึ้นอันดับ 1 ใน Netflix จากการที่มีผู้ชมทั่วโลกชมไปแล้ว ได้รับความนิยมติด 10 อันดับแรกใน 25 ประเทศ อาทิ แคนาดา สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

จากฝีมือการกำกับของ Sanjay Leela Bhansali  โดยมี "อาเลีย บาตต์" (Alia Bhatt) นางเอกบอลลีวูด ผู้รับบท "คังคุไบ" นี่อาจเรียกได้ว่าถือเป็นตัวอย่างหนังอินเดีย ที่เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้เห็นได้การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมภาพยนต์อินเดียเเละศิลปะภาพยนตร์ของอินเดียได้ดีทีเดียว 

“คังคุไบ” ฝันจะเป็นนักแสดงชื่อดัง แต่กลับถูกคนรักหลอกมาขายตัว ทำให้ต้องใช้ชีวิตแบบ Sex Worker เธอไม่เคยนั่งโศกเศร้ากับชีวิต เเต่กลับฮึดสู้ ผลักดันตัวเองจนกลายเป็นคนที่น่าเคารพนับถือ เรียกร้องสิทธิสตรีและอาชีพ Sex Worker ให้ถูกกฎหมาย

 

นี่เป็นการฉายภาพประเด็นสังคม ผ่านตัวละครผู้หญิงขายบริการทางเพศ Sex Workers ในอินเดียในอดีต โดยสิ่งที่เรียกร้องก็คือ หญิงทุกคน และทุกอาชีพ มีศักดิ์ศรีทั้งนั้น และทุกคนควรได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันทางกฎหมาย

 

“ไม่ว่าใครจะโผล่มาหน้าประตูเรา เราก็ไม่ตัดสินพวกเขา มันเป็นหลักการของเรา เราจะไม่ถามถึงศาสนา วรรณะ จะผิวเข้มหรือขาว จะรวยหรือจน ทุกคนจ่ายเท่ากัน พวกเราไม่ได้เลือกปฏิบัติกับคนอื่น แต่ทำไมผู้คนถึงเลือกปฏิบัติกับเรา”

 

พลังแห่ง “คังคุไบ” ว่าด้วยเรื่อง Sex Worker ชวนดูโมเดลกฎหมายแต่ละประเทศ

นี่คือประโยคพูดของตัวเอกในเรื่องนี้ เด็ดขาดเเละตรงไปตรงมา สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการให้ใคร ๆ รู้ว่าผู้หญิงทุกคนและทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีในตัวเอง

 

ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมง 33 นาที "คังคุไบ” สะท้อนภาพการสู้ชีวิตของ “โสเภณี” คนหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็น “ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ (The Mafia Queen of Mumbai)” ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ เพราะต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ผู้ขายบริการทางเพศ หรือ Sex Worker  

 

อาจไม่สามารถบอกได้ว่าการเป็น sex worker เหมาะสมหรือไม่ หากแต่ถ้ามอง sex worker เป็นมนุษย์คนหนึ่ง นั่นหมายความว่า "กฎหมาย" ก็ควรคำนึงถึงพวกเขาด้วยหรือไม่

 

สำหรับประเทศไทยการค้าบริการทางเพศ  มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าบริการทางเพศ และมีการกำหนดโทษทางอาญา จาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539   

  • ความผิดที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศ
  • ความผิดของผู้ที่มีส่วนส่งเสริมหรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ

 

แต่ก็คงพูดไม่ได้เต็มปากว่าทำให้การค้าบริการทางเพศลดลง กลับเป็นการผลักผู้บริการทางเพศต้องทำอย่างหลบๆ ซ่อนๆ  ตัวเลขผู้เยาว์เข้าสู่การค้าบริการมากขึ้น มากกว่านั้นยังไม่มีกฎหมายรับรองสถานะ ทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิ ความคุ้มครอง และสวัสดิการตามกฎหมายเท่าที่ควรจะเป็น

 

ที่ผ่านมา "ภาคประชาชน" พยายามเคลื่อนไหว เสนอ "ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539" เพื่อให้การค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจไม่เป็นความผิดอาญา (Decriminalization) และผู้ให้บริการทางเพศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจในฐานะแรงงานเข้าถึงสิทธิและได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ 

 

พลังแห่ง “คังคุไบ” ว่าด้วยเรื่อง Sex Worker ชวนดูโมเดลกฎหมายแต่ละประเทศ

 

สำหรับต่างประเทศ  มีการออกกฎหมายอย่างไรบ้างไปดูกัน 

 

นิวซีแลนด์

  • รองรับอาชีพตั้งแต่ปี 2003 อนุญาตให้ชาวนิวซีแลนด์ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี รวมถึงชาวออสเตรเลีย และผู้ที่มีวีซ่าแบบอยู่อาศัย ประกอบอาชีพนี้ได้โดยสมัครใจ
  • เปิดสถานขายบริการทางเพศ ต้องขออนุญาตจากภาครัฐ จะมีหน้าที่ดูแลลูกค้า และดูแลระหว่างประกอบกิจกรรม ทั้งลูกค้าและผู้ให้บริการมีการสวมใส่ป้องกัน อาทิ ถุงยาง และแผ่นยาง 
  • ถ้าพบมีการฝ่าฝืน อาจมีการโทษปรับทุกฝ่าย
  • ไม่ได้บังคับว่า sex worker ทุกคนต้องมีค่าย หากรวมตัวกันไม่เกิน 4 คน ต้องดูแลเรื่องต่างๆ กันด้วยตัวเอง
  • แนะนำให้ sex worker เซ็นสัญญากับสถานบริการในรูปแบบสัญญาแบบอิสระ (independent contractors) มากกว่าในฐานะลูกจ้าง กับนายจ้าง

 

เนเธอร์แลนด์

  • รองรับเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2000 รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ให้อำนาจท้องถิ่นในการออกกฎระเบียบเอง  
  •  สถานที่ตั้งห้ามใกล้โบสถ์และโรงเรียน ความปลอดภัยและสะดวกสบายพื้นฐาน ตลอดจน เจ้าของสถานบริการต้องไม่เคยมีประวัติอาชาญกรรม เป็นต้น
  •  ชาวเนเธอร์แลนด์ หรือประชากรในประเทศสหภาพยุโรป / ผู้มีวีซ่าอยู่อาศัย ที่อยากเป็น sex worker ต้องมีอายุมากกว่า 21 ปี ต้องขอใบอนุญาตในการประกอบอาชีพ
  • sex worker ต้องผ่านการตรวจสุขภาพ ภายใต้กฎหมายท้องถิ่น
  • สถานค้าบริการสำหรับ sex worker เอง ต้องขอใบอนุญาตจากภาครัฐเช่นกัน

 

 เยอรมนี

  • sex worker ถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2002
  • กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ประกอบอาชีพ sex worker ไว้ที่ 18 ปี
  • อนุญาตให้ประชากรในประเทศสหภาพยุโรป รวมถึงผู้มีใบอนุญาตทำงานสามารถทำได้
  • ต้องพกใบอนุญาตติดตัวตลอดเวลาทำงานคือ ใบอนุญาตทำงาน และใบรับรองสุขภาพ
  • ผู้มีอายุต่ำกว่า 21 ปี ต้องเข้ารับการตรวจทุก 6 เดือน
  • กำหนดว่าต้องเสียภาษี ทำประกันสุขภาพ 
  • เปิดสถานบริการ sex worker ต้องขออนุญาตจากภาครัฐ จัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้กับ sex worker

 

เดนมาร์ก

  • เน้นไปที่การป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ การล่อลวงเพื่อมาขายบริการทางเพศ  
  • sex worker  ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และประชากรในสหภาพยุโรป หรือผู้มีใบอนุญาตทำงานสามารถทำได้ sex worker
  • ต้องเสียภาษี

 

ตุรกี

  • รองรับให้ sex worker ถูกกฎหมาย
  • ต้องขอใบอนุญาตจากภาครัฐ
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพก่อน
  • หากมีสัญชาติตุรกี และเป็น sex worker  ต้องมีสถานะโสด มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป
  • ต้องได้รับการศึกษาขั้นต่ำในระดับประถม
  • สถานบริการ sex worker ต้องขออนุญาตจากภาครัฐ
  • การให้บริการในที่อื่นนอกจากสถานบริการถือว่าผิดตามกฎหมาย

 

อ้างอิง :  Netflix Empower Foundation  sexualrightsdatabase.org